วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ก๋วยเตี๋ยวแห่งความมืด...ฝีมือคนตาบอด

ก๋วยเตี๋ยวแห่งความมืด...


ฝีมือคนตาบอด



ในสังคมของการแข่งขันแก่งแย่งชิงดี เพื่อที่จะให้ชีวิตของตนเองอยู่รอดต่อไป ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่ไม่มีใครล่วงรู้ มันหลบซ่อนอยู่ในภาพลักษณ์ของสังคมที่ดูดี ยังมีเรื่องราวของชีวิตอีกหลายชีวิตที่ต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบด้วยความยากลำบาก พยายามทำทุกอย่างให้ชีวิตนี้ได้ดำรงอยู่ โดยปกติแล้วคนทุกคนต่างก็มีปัญหาของแต่ละคนแตกต่างกันไป ใหญ่บ้างเล็กบ้าง...แต่ถ้าชีวิตของคนคนหนึ่งที่ต้องเดินอยู่บนเส้นทางชีวิตเพียงลำพัง ท่ามกลางความมืดสนิทจากโลกภายนอก ...ลองคิดดูสิว่าคนผู้นั้นจะลำบากมากขนาดไหน จะต้องเจอะเจอมรสุมชีวิตสักกี่ลูกกี่หน แต่คนคนนั้นที่ผู้เขียนกำลังจะกล่าวถึง เขาก็ได้สู้ชีวิตและดิ้นรนเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้...

และแล้วคนไม่ธรรมดาในสัปดาห์นี้ จึงขอหยิบยกเรื่องราวชีวิตที่อยู่กับความมืดมิดนี้มาตีแผ่ให้ท่านได้อ่านกัน เธอคนนี้เป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง มีอาชีพที่พอหาเลี้ยงตัวเองได้คือเป็นแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว ...อ้าห้า...ผู้อ่านคงงงใช่มั้ยคะ ว่าแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวมันก็ไม่เห็นจะเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาตรงไหนเลย ...ใช่ค่ะ เป็นแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวมันแสนจะธรรมดา แต่ที่มันจะไม่ธรรมดาก็ตรงที่ แม่ค้าก๋วยเตี๋ยวคนนี้เธอทำก๋วยเตี๋ยวด้วยโลกทั้งใบมืดสนิท เพราะตัวเธอตาบอดตั้งแต่ยังอายุได้เพียง 5 ขวบเท่านั้น

มาถึงตรงนี้เรามาอ่านเรื่องราวชีวิตของเธอกันดีกว่า ถ้าใครที่รู้จักและอยู่แถว ต.โคกตูม .เมือง จ.ลพบุรี ก็จะรู้จักมักคุ้นกับแม่ค้าก๋วยเตี๋ยวคนนี้เป็นอย่างดี เธอคือ ป้าสมนึก กัญญาเงินอายุ 55 ปี เป็นคนลพบุรีมาตั้งแต่เก่าก่อน ยึดอาชีพเป็นแม่ค้าก๋วยเตี๋ยว ซึ่งทุกคนที่อยู่แถวนั้นต่างพากันมาอุดหนุน แต่ในตอนแรกๆ ก็ไม่ค่อยมั่นใจในฝีมือของป้าสมนึกนัก เพราะเธอตาบอดมองอะไรไม่เห็น แล้วจะทำก๋วยเตี๋ยวอะไรได้อย่างไร ...จะใส่เครื่องปรุงต่างๆ ขนาดเท่าไร จำนวนแค่ไหน ออกมาหน้าตาก๋วยเตี๋ยวจะเป็นอย่างไร กินได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ...แต่แล้วในที่สุดป้าสมนึกก็ได้พิสูจน์ให้ทุกคนได้ประจักษ์แก่สายตา ว่าเธอทำได้...ทำได้ดี คล่องแคล่วเสียด้วย คนตาดีๆ ยังต้องอายป้าสมนึกแกเลยทีเดียวล่ะ

ภายในบ้านหลังหนึ่งที่เปิดเป็นเพิงขายก๋วยเตี๋ยว อยู่ติดกับวัดแห่งหนึ่ง ซึ่งภายหลังบ้านหลังนี้ถ้าลองเดินไปดูด้านหลังร้าน จะพบกับป้าสมนึกที่จะตื่นขึ้นมาแต่เช้าอยู่เป็นประจำ เพื่อตระเตรียมน้ำก๋วยเตี๋ยว เครื่องปรุงและหั่นผักต่างๆ ไว้สำหรับพร้อมที่จะทำก๋วยเตี๋ยวขายให้กับลูกค้า ถ้าใครที่ผ่านเข้าไปเห็นในช่วงที่ป้าสมนึกกำลังเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ จะต้องทึ่ง...เพราะป้าสมนึกหยิบจับอุปกรณ์ มีด เครื่องครัวได้อย่างชำนิชำนาญ อย่างกับว่าเป็นคนตาดีๆ นี่เอง



ครอบครัวของป้าสมนึกมีพี่น้องอยู่ทั้งหมด 5 คน พ่อแม่มีอาชีพทำไร่ทำนาและรับจ้างทั่วไป ป้าสมนึกได้เล่าเรื่องราวในวัยเด็กให้ฟังว่า ตอนที่ตัวแกอายุได้ 5 ขวบ เกิดป่วยเป็นโรคตาแดง แล้วก็ไม่มีเงินไปรักษาให้หาย อย่างมากก็แค่ได้ไปหาหมอชาวบ้าน แต่ก็ไม่ใช่วิธีการรักษาที่ถูกต้องตามสุขอนามัย จากนั้นเดิมทีที่เป็นเพียงโรคตาแดงธรรมดา ก็ได้ลุกลามติดเชื้อไปถึงประสาทตา จนทำให้ตาที่เคยเห็นโลกภายนอกต้องมืดบอดลง..อย่างไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมได้อีก เป็นที่น่าสลดใจ..ใครเล่าจะรับสภาพกับเหตุการณ์เช่นนี้ได้ ก็ยังเป็นเด็กที่อยู่ในวัยซุกซนแต่กลับต้องมาตาบอดมองอะไรไม่เห็น จากนั้นป้าสมนึกก็เปลี่ยนไปไม่ยอมออกไปไหนมาไหน เพราะคิดว่าตัวเองไม่เหมือนคนอื่น รู้สึกอาย ไม่อยากคบกับใคร...

แต่ต่อมาเห็นแม่ต้องทำงานรับจ้าง ก็สงสารแม่ คิดอยากจะช่วยแม่ เพราะเห็นว่าตัวเองอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร ก็น่าจะมีหนทางช่วยแม่ได้บ้าง ในตอนนั้นป้าสมนึกก็แอบหัดหุงข้าว ทำกับข้าวเอง ถึงผู้เป็นแม่จะห้ามปราม แต่ป้าสมนึกก็มักแอบทำอยู่เสมอในตอนที่แม่ไม่อยู่บ้าน ...ลองคิดดูเถอะค่ะ ว่าแม่ของป้าสมนึกจะไม่เป็นห่วงลูกสาวได้อย่างไร ก็ในเมื่อลูกตาบอดมองไม่เห็น แล้วจะให้หุงข้าว ทำกับข้าวเอง ...เวลาใช้เตาใช้ฟืนจุดไฟ ก็แสนจะน่าเป็นห่วง ไหนจะน้ำรงน้ำร้อน น้ำมันในกะทะร้อนอีกล่ะ เฮ่อ...แต่ในที่สุดป้าสมนึกแกก็ยังฝึกทำจนสามารถทำแกงเผ็ด แกงส้มไว้ให้ผู้เป็นแม่ได้

และในที่สุดเมื่อพ่อกับแม่เสียชีวิตลง ป้าสมนึกอายุได้เพียง 18 ปีเท่านั้น ทำให้ชีวิตไม่รู้จะหันเหไปพึ่งพาใคร จึงได้ย้ายไปอยู่กับพี่สาว แต่เมื่อต้องไปอาศัยอยู่กับคนอื่นก็ต้องคิดหาทางเลี้ยงตัวเอง ถึงแม้จะเป็นพี่สาวก็ตามแต่ แรกเริ่มป้าสมนึกได้ไปรับจ้างกองแฝก ได้ค่าจ้างตับละหนึ่งสลึง ในวันหนึ่งก็ได้ประมาณ 25-30 ตับ

ป้าสมนึกต้องทำอาชีพรับจ้างนี้อยู่ประมาณ 5 ปี

แล้ววันหนึ่งเธอก็กล้าที่จะออกมาเผชิญโลกภายนอก ด้วยการเปลี่ยนอาชีพมาเป็นแม่ค้ารับขนมแห้งมาขาย เช่น ขนมปัง ขนมไข่ ขนมเปี๊ยะ และในช่วงหลังได้มีทำน้ำแข็งใสขายเพิ่มอีก ในราคาแก้วละหนึ่งสลึง เพราะขายขนมอย่างเดียว ขายบ่อยๆ ทุกวันๆ คนซื้อก็มักจะเบื่อ จึงทำให้เริ่มขายไม่ดี



ในที่สุดเมื่อปี 2532 ป้าสมนึกก็หันเหเข็มชีวิตของตัวเอง ด้วยการอาศัยฝีมือในการทำอาหารที่ตนเองเคยทำได้เมื่อครั้งที่อยู่กับแม่ มาเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของชาวบ้าน ว่าเธอจะทำได้อย่างไร ในเมื่อตาก็บอด แล้วก๋วยเตี๋ยวทำออกมาจะมีรสชาติไปทางเหนือทางใต้มั้ยล่ะนี่ เพราะการทำก๋วยเตี๋ยวจะมีส่วนผสมอยู่หลายอย่าง ถ้าใส่ผิดส่วนไป ใส่อันนู้นมาก อันนี้น้อยไป ก็จะส่งผลถึงรสชาติที่ผิดแปลกไปด้วย แต่ว่าป้าสมนึกสามารถทำก๋วยเตี๋ยวออกมาอร่อย รสชาติถูกใจลูกค้าได้ และที่พิเศษคือป้าสมนึกจะสามารถจดจำได้ว่าลูกค้าของแกคนไหนจะชอบกินรสชาติไหน ไม่ใส่อะไรบ้าง ขนาดว่าเสียงรถที่มาจอดหน้าร้านของแก ...แกยังจำได้ว่าเป็นรถของใคร...เยี่ยมมั้ยล่ะ



คนตาบอดคนหนึ่งที่มองอะไรไม่เห็น การทำก๋วยเตี๋ยวขายจึงไม่ใช่สิ่งที่คิดว่าหมูๆ เลย ต้องระมัดระวังน้ำก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ เดือดๆ หยิบจับเครื่องปรุงต่างๆ ก็ต้องระวังเป็นพิเศษ แต่ป้าสมนึกแกจะ จัดวางเครื่องมือเครื่องปรุงต่างๆ ไว้เป็นที่เป็นทาง จะใส่แบบเป็นขั้นตอน...เพราะเมื่อวางเป็นที่ก็จะรู้ว่าตรงนี้คืออะไร จะต้องใส่เท่าไรดี ในทุกวันนี้ป้าสมนึกเล่าว่า แกทำก๋วยเตี๋ยวขายได้ประมาณวันละ 200-300 บาท ถ้าวันไหนขายดีก็จะได้ถึง 500 บาท บางวันไม่ค่อยมีลูกค้า ป้าสมนึกก็จะมานั่งซึมเศร้าน้ำตาตกอยู่หน้าร้าน ซึ่งทุกวันนี้ป้าสมนึกบอกว่าแกก็ท้อ เพราะต้องสู้ดิ้นรนอยู่คนเดียว มีพี่ชาย..พี่ก็ได้แต่เมาเหล้า จะไปอยู่ที่อื่นก็มีคนมาซื้อน้อย แล้วก็ไม่มีทุนไปลงทุนอีก ป้าบอกว่าอยากจะสร้างบ้านใหม่ ทำร้านใหม่ ...ทุกวันนี้ถ้าคืนใดมีฝนตกแรงๆ ก็อาจไม่ได้นอนเลยทั้งคืน เพราะหลังคาบ้านรั่วทะลุหลังคา น้ำฝนหยดลงบนที่นอน ในช่วงแรกๆ ที่เปิดร้านเครื่องมืออะไรสักชิ้นก็ไม่มี ต้องค่อยๆ เก็บเงินซื้อมาเป็นของตัวเอง ถ้วยชาม อุปกรณ์เครื่องครัวต่างๆ



เหมือนดั่งชะตาชีวิตของป้าสมนึกถูกกลั้นแกล้ง ใช้ชีวิตอย่างลำบากลำบน แต่ก็ยังมีคนหน้าซื่อใจคดมาขอยืมเงินป้าสมนึก ให้ช่วยค้ำประกันเงินกู้ดอกเบี้ยร้อยละ 20 ...ยืมไปคนละ 3 พัน 5 พันบ้าง บางทีคนละหมื่น รวมๆ แล้วก็หลายหมื่น แล้วเขาก็ไม่มีเงินมาให้ เลยไม่มีทุนมาลงทุนต่อ ซึ่งตัวป้าสมนึกในบางทีเมื่อยามไม่มีเงินจริงๆ ป้าสมนึกแกก็ต้องไปกู้เงินเขามาเหมือนกัน ดอกเบี้ยร้อยละ 20 บาท พอได้เงินมาก็นำไปหมุนเพื่อลงทุนและกินใช้ไปบ้าง เมื่อขายก๋วยเตี๋ยวได้ก็นำไปซื้อข้าวของเพื่อนำมาทำก๋วยเตี๋ยวขายต่อ หมุนวนเวียนกันอยู่อย่างนี้ ...ไม่รู้ว่าไอ้พวกที่มาหลอกเงินของป้าสมนึกนี้ มันจะรู้จักคำว่าสำนึกบ้างหรือเปล่า เลวจริงๆ ...เขาว่าไม่ช่วยก็ยังไม่เป็นไร แต่ไอ้พวกนี้มันเหยียบซ้ำให้จมลงดินชัดๆ



คนเราเลือกที่จะเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ ป้าสมนึกเลือกที่จะไม่ตาบอดไม่ได้ เพราะเหตุการณ์นั้นมันเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ป้าสมนึกเลือกที่จะมีชีวิต เลือกที่จะเดินอยู่บนเส้นทางของคนปกติเขาทำกัน พยายามดิ้นรนช่วยเหลือตัวเอง เพราะไม่อยากไปตกเป็นภาระของใคร จึงต้องอดทนสู้ชีวิตมาอย่างที่ได้เขียนมาข้างต้น ผู้เขียนขอยกให้ป้าสมนึกเป็นอีกคนที่สู้ชีวิต ในคอลัมน์คนไม่ธรรมดาของเราด้วยนะคะ และผู้เขียนก็ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ป้าสมนึก มีพลังมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับชีวิต ต่อสู้กับมรสุมต่างๆ และขอให้คุณงามความดีที่ป้าสมนึกสั่งสมมาได้ส่งผลย้อนกลับให้ป้าสมนึกค้าขายดี มีเงินมีทองมาสร้างร้านสร้างบ้านใหม่ด้วยนะคะ

แหล่งข้อมูลจาก : นิตยสารคู่สร้างคู่สม

เรียบเรียงโดย : พิมพา นาคกัน





เรื่องจริงไม่น่าจริงเกิดขึ้นมากมายโดยที่เราเคยรู้มาก่อน แต่หลายเรื่องที่น่าสนใจก็ถูกหยิบยกมานำเสนอสู่สายตามหาชน ดังเช่นเรื่องราวของ 2 ชีวิตที่มีวิถีชีวิตไม่เหมือนคนทั่วไป เริ่มเรื่องแรกที่สร้างความฮือฮาไปทั่วบ้านทั่วเมือง กับชีวิตที่มองมุมกลับ(หัว) ของ คุณคฑา ผาสุขขันธ์ หรือที่เพื่อนๆ เรียก “คฑากลับหัว” เขาถนัดที่จะอ่านและเขียนหนังสือแบบกลับหัว รวมถึงลายเซ็นที่ใช้ในเอกสารราชการก็ต้องกลับหัวเซ็นเช่นกัน

จากนั้นต่อด้วยเรื่องน่าทึ่งกับ คุณสมนึก กัญญาเงิน คุณป้าตาบอดวัย 57 ปีที่สามารถขายก๋วยเตี๋ยวเพียงคนเดียวเลี้ยงตัวเองมากว่า 20 ปี เพราะเป็นโรคสะเก็ดเงิน บ้านยากจนไม่มีเงินรักษา จึงต้องตาบอดตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ด้วยความอยากแบ่งเบาภาระพ่อแม่ จึงพยายามแอบลองทำอาหารด้วยตัวเอง ทั้งคลำ ทั้งดมจนชำนาญ และได้วิชาทำก๋วยเตี๋ยวมาเลี้ยงชีพในวันนี้ ติดตามชมชีวิตพิสดารที่เกิดขึ้นจริงได้ในรายการ “วีไอพี” วันจันทร์ที่ 10 มีนาคม 2551 เวลา 20.30 น.ทางโมเดิร์น 9


ที่มา :

1 ความคิดเห็น:

อารายเหรอ