วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

หนูผิดไหม ที่ไม่รักแม่ ? ว.วชิรเมธี ♥

หนูผิดไหม ที่ไม่รักแม่ ? ว.วชิรเมธี ♥


ปุจฉา

ถ้าหากแม่ไม่รักเรา และทิ้งเราไปมีครอบครัวใหม่ตั้งแต่เด็ก พอเราโตขึ้น และพบว่า เราได้ดีมีสุขแล้ว แม่จึงกลับมา ถามว่า หากเราไม่รู้สึกรักแม่เลย แต่ก็ต้องทำหน้าที่ดูแลท่านไปอย่างนั้นเอง จะเป็นการกระทำที่สมควรไหม

-------------------------------------

วิสัชนา

ในพุทธศาสนานั้น ผู้รู้ท่านกล่าวว่า การเป็นแม่ ไม่ใช่พอให้กำเนิดแล้วก็เป็นกันได้เลยก็หาไม่ การเป็นแม่ต้องมี “พันธกิจ” ที่มากกว่านั้น กล่าวคือ ถ้าท่านเพียงแต่ให้กำเนิด ทว่าไม่รัก ไม่เลี้ยงดู ก็ถือว่า ยังไม่ได้เป็นแม่ตามความหมายที่แท้จริง เป็นได้เพียงแต่ “ผู้ให้กำเนิด” เท่านั้น ส่วนคนที่จะได้ชื่อว่าเป็นแม่นั้น ต้องทำ “หน้าที่” ของแม่ให้ได้เสียก่อน ต่อเมื่อทำหน้าที่ของแม่ได้ครบสมบูรณ์แล้ว เมื่อนั้นแหละ ความเป็นแม่ที่แท้จึงจะเกิดขึ้น

หน้าที่ที่จะทำให้ผู้ให้กำเนิด เปลี่ยนสถานภาพกลายเป็นแม่นั้น ประกอบด้วย

(๑) สอนลูกให้อยู่ห่างจากความชั่ว

(๒) สอนลูกให้เป็นคนดี

(๓) ส่งเสริมให้ลูกได้รับการศึกษา

(๔) ดูแลเลือกสรรผู้ที่จะมาเป็นคู่ครอง

(๕) เมื่อถึงเวลาอันสมควร ก็มอบมรดกให้



เมื่อลูกได้รับการดูแล เลี้ยงดู เป็นอย่างดี จากแม่อย่างนี้แล้ว

ลูกเองก็ต้องตอบแทนพระคุณแม่ด้วยการทำหน้าที่ของลูกด้วยเช่นกัน


(๑) ท่านเลี้ยงมาแล้ว ต้องเลี้ยงท่านตอบ

(๒) ต้องช่วยทำกิจการงานของท่าน

(๓) ธำรงรักษาชื่อเสียงของตระกูลวงศ์

(๔) ประพฤติตนให้สมควรแก่การรับมรดก

(๕) เมื่อท่านล่วงไปแล้ว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้



จะเห็นว่า การเป็นแม่คนก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การเป็นลูกที่ดีของแม่ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะการเป็นทั้งแม่และลูก เป็นเรื่องที่ต้องใช้หลักธรรมกันพอสมควรเช่นนี้เอง ทุกวันนี้ เราจึงได้เห็นแม่และลูกที่ขาดคุณสมบัติกันมากมายเดินอยู่ในสังคมทั่วไปหมด


ในกรณีของคุณนั้น ถ้าแม่ทิ้งคุณไปตั้งแต่เด็ก เป็นเหตุให้คุณไม่ได้โตมากับท่าน และท่านก็ไม่ได้เลี้ยงดูคุณ คุณจึงไม่รัก ไม่รู้สึกว่าท่านเป็นผู้มีพระคุณ ขอให้คุณถือเสียว่า ความบกพร่องที่เกิดขึ้นนั้น เป็นความบกพร่องของผู้เป็นแม่ฝ่ายเดียว และถึงอย่างไร มันก็ได้จบลงไปแล้ว แม่บกพร่อง นับเป็นรอยแผลเป็นในชีวิตของแม่ ปล่อยให้รอยแผลเป็นนั้น เกิดกับแม่คนเดียวก็พอแล้ว เราไม่ควรจะไปสร้างรอยแผลใหม่ให้เกิดขึ้นในชีวิตของเราซ้ำรอยแม่ ด้วยการ “เอาคืน” จากแม่ ด้วยการทิ้งหรือไม่ให้ความสำคัญกับท่านเช่นที่ท่านทำกับเรา




เราไม่ควรจะล้างโคลนด้วยน้ำครำ ไม่ควรจะล้างไฟด้วยไฟที่ร้อนแรงกว่า


มนุษย์ ทั่วไปนั้น มักติดอยู่ในวังวนของความคับแค้น เมื่อตนถูกคนอื่นกระทำ ก็ผูกใจเจ็บอยู่ว่า วันหนึ่งตนจะเป็นฝ่ายได้กระทำคืนบ้าง และก็เฝ้ารอโอกาสเช่นนั้น เมื่อสบโอกาสเข้า จึงพยายามจะแก้แค้น และด้วยวิธีคิดเช่นนี้ จึงไม่สามารถยกตนให้ลอยพ้นจากความคับแค้นและวัฏจักรของกฎแห่งกรรมไปได้ ส่วนผู้มีการศึกษาธรรมะมาเป็นอย่างดีแล้วนั้น จะปฏิบัติตรงกันข้ามทีเดียว เขาจะมองเห็นว่า เมื่อใครก็ตาม ทำร้ายเรา นั่นก็เพราะเขายังไม่รู้ และหากเรารู้แล้ว เราก็ควรลอยตัวให้อยู่เหนือความคับแค้น มองดูผู้ที่ทำร้ายเรานั้นเป็นดั่งสัตวโลก ผู้ยังจมอยู่ในทะเลแห่งความเขลา คอยแต่จะหาวิธีเปิดดวงตาให้เขาได้เห็นแสงแห่งธรรม และเปลี่ยนความคับแค้นนั้นเป็นความเมตตา มีแต่การยกตนให้สูงเหนือความอาฆาตพยาบาทนี้เท่านั้น วัฏจักรแห่งความแค้นและกฎแห่งกรรมจึงจะสิ้นสุดลง


แม่ ของเรานั้น แม้ไม่ได้เลี้ยงเรามา แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ให้ชีวิตเรามา จริงอยู่คุณอาจไม่รักท่านในฐานะที่ท่านเป็นแม่ แต่คุณก็ควรรักท่าน หรือดีต่อท่านในฐานะที่ท่านเป็นผู้ให้ชีวิตดีกว่า

บรรดาสิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดในชีวิตของเรานั้น ไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่า “ชีวิต” คือ ร่างกายและลมหายใจนี้เป็นไม่มีอีกแล้ว ผู้หญิงคนหนึ่งเขาให้สิ่งนี้แก่คุณมา ทำให้คุณได้อัตภาพมาเกิดเป็นมนุษย์ซึ่งนับเป็นสัตว์โลกผู้มีวิวัฒนาการสูง ที่สุดแล้ว



ชีวิตก็ดี ความเป็นมนุษย์ก็ดี ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เลย แต่คุณก็ได้สองสิ่งนี้มาแล้ว

ผู้หญิงซึ่งคุณสมมุติเรียกว่าแม่ (ที่คุณไม่รัก) นั่นเอง เขาให้สิ่งนี้แก่คุณมา

ในฐานะของแม่เขาอาจบกพร่อง แต่ในฐานะของผู้ให้ชีวิต

และความเป็นมนุษย์ เขาอาจทำได้สมบูรณ์ทีเดียว



เหตุผล เพียงแค่นี้ ก็เพียงพอแล้ว ที่คุณจะหันกลับไปมองแม่ของคุณด้วยวิธีคิดใหม่ และด้วยการปฏิสัมพันธ์ที่เปี่ยมด้วยความกตัญญูรู้คุณ และโปรดอย่าลืมว่า ในวันหนึ่งข้างหน้าคุณก็อาจจะต้องเป็นแม่คนด้วยเหมือนกัน หากคุณไม่ฝึกเป็นลูกผู้มีใจสูงเสียแต่ในตอนนี้ ครั้นถึงเวลาที่คุณเป็นแม่ขึ้นมาบ้าง ถึงวันนั้น คุณอาจจะรู้ว่า การเป็นแม่ ไม่ง่ายเลย, ไม่ง่ายเลยจริงๆ



ขอบคุณบทความจาก ธรรมะคิดส์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ