| แดงสดใสรับลมหนาว กุหลาบพันปี ดอยอินทนนท์ | | | ฤดูกาลแห่งความหนาวเย็นได้หวนมาเยือนอีกครั้ง ฤดูหนาวนอกจากเราจะได้สัมผัสกับอากาศเย็นสบายแล้ว ในฤดูกาลนี้ เหล่าดอกไม้หลากหลายสายพันธุ์ต่างทยอยกันผลิบาน อวดสีสันแห่งพฤกษาให้เราได้ยลโฉมกันมากมาย ตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะทางภาคเหนือของบ้านเรา ที่มีแหล่งชมดอกไม้ดีๆอยู่หลายแห่ง ครั้งนี้จึงขอพามาเติมเต็มชีวิตด้วยสีสันแห่งดอกไม้ ซึ่งก็มีทั้งดอกไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและแหล่งปลูกดอกไม้เมืองหนาว ที่เพาะปลูกดอกไม้งามเหล่านี้ สองอารมณ์ ชมกุหลาบพันปี สถานที่แรกที่จะพาไปเที่ยวชมความงามของดอกไม้กัน คือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ ยอดดอยอินทนนท์ ในอุทยานแห่งชาติอินทนนท์ ซึ่งเป็นยอดเขาที่ขึ้นชื่อว่าสูงที่สุดในประเทศไทย ที่มีอากาศหนาวเย็นปกคลุมตลอดปี ที่แห่งนี้ “กุหลาบพันปี” ไม้งามแห่งหิมาลัย ปรากฏโฉมท้าลมหนาวอยู่ในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค.ของทุกปี กุหลาบพันปีที่พบบนดอยอินทนนท์นั้น คือ Rhododendron Arborea เป็นชนิดเดียวกันบนหิมาลัย สามารถพบเจอได้ที่บริเวณอ่างกา กิ่วแม่ปาน และผาแง่ม ซึ่งมีทั้งพันธุ์ดอกสีขาวที่ชื่อท้องถิ่นเรียกกันว่า”คำขาว” และดอกสีแดงเข้มหรือ”คำแดง”นับเป็นพืชหายากที่มีดอกงดงามมาก ชนิดหนึ่งของประเทศไทยและจะพบอยู่เฉพาะในเขตอากาศหนาวเย็นบนพื้นที่ ชุ่มชื้น สันเขาหรือหน้าผาระดับความสูงประมาณ 1,600 – 2,500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล กุหลาบพันปีได้รับยกย่องว่าเป็นราชินีแห่งเทือกเขาหิมาลัย หลายๆคนเข้าใจผิดว่า กุหลาบพันปีบนดอยอินทนนท์คือกุหลาบโบราณ ความจริงแล้ว เหตุที่เรียกกันว่า กุหลาบพันปี ก็เพราะว่าไม้ชนิดนี้ยามออกดอกจะมีสีสันสวยงามเหมือนดอกกุหลาบ นอกจากนี้ลำต้นที่หงิกงอ มีมอส ไลเคนขึ้นปกคลุมจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดูเก่าแก่โบราณดังกุหลาบพันปี ที่สำคัญบนเส้นศึกษาธรรมชาติทางสายนี้ อาจจะได้พบเห็นกวางผา สัตว์สงวนหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ตามริมหน้าผาบริเวณนี้ด้วย กุหลาบพันปีหนึ่งเดียวบนยอดดอยอินทนนท์ เป็นกุหลาบพันปีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติขณะนี้มีความเสี่ยงสูญพันธุ์สูง มากเนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้น เนื่องจากระบบนิเวศน์เปลี่ยนแปลงจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์เป็น 2 เท่า อีกหนึ่งอารมณ์ในการชมกุหลาบพันปี ขอพามาที่ ดอยช้างมูบ จ.เชียงราย ขับรถเหนือขึ้นไปจากโครงการพัฒนาดอยตุงราว20นาที จะเข้าสู่บริเวณดอยช้างมูบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “สวนรุกขชาติแม่ฟ้าหลวง” ที่เดิมนั้นป่าบนดอยช้างมูบเป็นป่าเสื่อมโทรมจากการทำไร่เลื่อนลอยและการ ปลูกฝิ่น ไม้ใหญ่ถูกตัดโค่นจนเป็นเขาหัวโล้น เมื่อครั้งที่สมเด็จพระศรีนครินทราฯ เสด็จมาพบแต่หญ้าปกคลุม จึงมีพระประสงค์ที่จะฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ดังเดิม ในปี พ.ศ. 2535 มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้สนองพระราชดำริสร้างสวนรุกขชาติพื้นที่ 250 ไร่บนดอยช้างมูบ เพื่อรวบรวมพันธุ์ไม้ที่เคยพบบนดอยช้างมูบ และเทือกดอยตุงขึ้นเพื่ออนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นถิ่นเอาไว้ พร้อมกับปลูกสนสามใบเป็นไม้เบิกนำ สร้างร่มเงา ภายในจัดเป็นเส้นทางลัดเลาะไปใต้ร่มเงาของไม้ใหญ่ที่เป็นพันธุ์ไม้ พื้นเมือง และพันธุ์ไม้ป่าหายากจำนวนมาก ทั้งกล้วยไม้ดิน พญาเสือโคร่ง สนภูเขา กุหลาบพันปี ที่เป็นไม้เด่น หลากสี หลายสายพันธุ์จากนานาประเทศ ในเอเซีย ยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย ก็ได้นำมาปลูกจนผลิดอกงดงามกันที่นี่ นอกจากนี้เส้นทางในสวนรุกขชาติยังเดินตามไหล่เขาไปจนถึงระเบียงชมวิว มองเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกลไปจนถึงชายแดนพม่าและลาว ไม่ไกลออกไปมีลำธารเล็ก ๆ มีน้ำไหลเย็นตลอดปีบนเนินด้านหน้าทางเข้าสวนรุกขชาติมีสถูปขนาดเล็กสูง ประมาณ 3 ม. สร้างไว้บนก้อนหินใหญ่ที่มีลักษณะเหมือนช้างหมอบ จึงเรียกว่า สถูปช้างมูบ เป็นสถูปโบราณไม่ทราบประวัติที่แน่นอน แต่น่าจะมีอายุกว่า 100 ปี ไว้ให้ได้สักการะอีกด้วย |
| ทุ่งดอกบัวตอง ดอยแม่อูคอ เหลืองอร่ามทั่วขุนเขา (ภาพ:ททท.) | | | ‘ดอกบัวตอง’ เหลืองสะพรั่งสามแดนดอย ดอกบัวตอง หรือในบางครั้งเพราะความคล้ายคลึงดอกทานตะวัน จึงถูกเรียกขานว่า ทานตะวันป่า หรือทานตะวันดอก ดอกบัวตองยังแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วและมีอายุยืนยาว สามารถสูงได้ถึง 5 เมตร ชอบขึ้นในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น จะออกดอกสวยงามที่สุดบนยอดดอยที่สูงกว่า 800 เมตรขึ้นไป โดยจะออกดอกในช่วงระหว่างเดือน พ.ย.ถึงต้นเดือนธ.ค. เท่านั้น เป็นดอกไม้อีกชนิดหนึ่งที่เรียกได้ว่าอวดโฉมบานโต้ลมหนาวก่อนใคร สถานที่ชมดอกบัวตองทางภาคเหนือนั้น ที่แรก ที่คุ้นเคยกันดี คือ ดอกบัวตองดอยแม่อูคอ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งดอกบัวตองบนดอยแม่อูคอจะบานเหลืองอร่ามเต็มท้องทุ่งในพื้นที่ เกือบ 1,000 ไร่ บนความสูงราวๆ 1,600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ดุจคลื่นเขาสีเหลืองสดกว้างสุดปลายสายตา อีกแห่งคือที่ ดอยแม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนเช่นกัน แม้ดอกบัวตองที่ดอยแม่เหาะจะไม่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตาเท่าที่ดอยแม่อูคอ แต่สามารถเดินทางไปได้ง่ายกว่า เพราะอยู่ริมทางซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่รถจะวิ่งไปแม่ฮ่องสอนอยู่แล้ว ดอกบัวตองที่นี่บานเวลาใกล้เคียงกันกับที่ดอยแม่อูคอ คือประมาณเดือน พ.ย.ถึง ธ.ค. แดนดอยสุดท้ายที่ดอกบัวตองเพาะกายอยู่คือที่ ดอยหัวแม่คำ ต.แม่สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ดอกบัวตองที่ดอยหัวแม่คำจะบานไล่เลี่ยกับที่ดอยแม่อูคอ จ.แม่ฮ่องสอนเช่นกัน ดอกบัวตองนี้มีมากมายขึ้นสลับกันระหว่างบ้านชาวเขา ที่เป็นบ้านเรือนหลังเล็กๆ แซมอยู่ระหว่างดอกบัวตองสีสวย แลดูกลมกลืนสวยงามจนได้รับยกย่องให้เป็น 1 ใน Unseen Thailand |
| สวนแม่ฟ้าหลวง แดนดอกไม้งาม | | | แดนดอกไม้งาม สวนแม่ฟ้าหลวง ดอยตุง ยังอยู่ที่ดินแดนเหนือสุดในสยามที่ จ.เชียงราย มีสถานที่หนึ่งซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกดอกไม้เมืองหนาวนานาพันธุ์ คือ สวนแม่ฟ้าหลวง สวนดอกไม้เมืองหนาวในหุบเขาบนดอยตุง ตั้งอยู่ด้านหน้าพระตำหนักดอยตุง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2535 ตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ต้องการให้คนไทยที่ไม่มีโอกาสไปต่างประเทศ ได้เห็นไม้ดอกเมืองหนาวที่สวนแห่งนี้ เดิมมีพื้นที่ 12 ไร่ มีการปลูกดอกไม้หมุนเวียนสลับให้ออกดอกไม่ซ้ำกันตลอดสามฤดู ล้อมรอบประติมากรรมชื่อ “ความต่อเนื่อง” เป็นรูปเด็กยืนต่อตัวที่กลางสวน นอกจากนี้ ยังจัดแต่งสวนหินซึ่งประดับด้วยหินภูเขากลมเกลี้ยงขนาดใหญ่ สวนน้ำอุดมด้วยไม้น้ำพันธุ์ต่างๆ บัว และสวนปาล์มที่รวบรวมปาล์มไว้มากมายในพื้นที่ 13 ไร่ สวนแม่ฟ้าหลวงจึงมีพื้นที่ทั้งสิ้น 25 ไร่ ภายในประดับประดาด้วยไม้ดอกไม้ประดับนานาพรรณ มีดอกไม้เมืองหนาว อาทิ ดอกซัลเวีย พิทูเนีย บีโกเนีย กุหลาบ ไม้มงคลต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีไม้ยืนต้นและซุ้มไม้เลี้อยอีกมากกว่า 70 ชนิด |
| ซารุกะเมืองไทยบานที่บ้านขุนช่างเคี่ยน | | | ขุนเขาแปรสี ด้วยซากุระเมืองไทย หากพูดถึงดอก“ซากุระเมืองไทย” ผู้ที่ชมชอบบุปผาจะรู้จักกันดีว่านี่คือ ดอก“นางพญาเสือโคร่ง” ไม้สกุล ท้อ บ๊วย พลัม เชอร์รี่ ซากุระ ที่พอถึงช่วงเดือนธ.ค.-ก.พ. ดอกซากุระเมืองไทย จะพร้อมใจกันบานสะพรั่งเต็มต้น ไปตลอดสองข้างทางขึ้นดอย สำหรับ ดอกนางพญาเสือโคร่งจะออกดอกเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง มีทั้งสีชมพู แดงและขาวซึ่งหายากที่สุด เมื่อดอกได้รับการผสมจะติดผลรูปไข่ ผลสุกเป็นสีแดงแบบลูกเชอรี่ โดยทั่วไปพบที่ความสูง1,000 – 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนฉายาว่า ” ซากุระเมืองไทย ” เนื่องจากขึ้นในที่สูง และชอบอากาศหนาว มีดอกคล้ายกับดอกซากุระ ยามผลิดอกพร้อมกันจะงดงามน่าชมมาก จุดชมซากุระเมืองเหนือนั้นมีอยู่มากมายหลายแห่ง อาทิ ดอยวาวี จ.เชียงราย ที่ถือเป็นแหล่งซากุระที่มากที่สุดในเมืองไทย เพราะมีปลูกมากถึง 400,000 ต้น นอกจากนี้ยังมีดอกซากุระสีขาวรวมอยู่ด้วย สถานที่อื่นก็มีหลายแห่งที่มีซากุระเมืองไทยบานให้รับชมทั้งที่ ดอยแม่สลอง จ.เชียงราย หรือแถบทางจ.เชียงใหม่ ก็มีหลายแห่งทั้ง ขุนช่างเคี่ยน ขุนแม่ยะ ขุนวาง ดอยอ่างขาง ดอยอินทนนท์ แม่จอนหลวง ซึ่งความงามของดอกซากุระแต่ละแห่งต่างก็ช่วยย้อมสีสันหวานใสโรแมนติกไม่หยอก ทีเดียว |
| ทิวลิปสวยๆมีให้ยลที่ ดอยผาหม่น และ ดอยผาแดง | | | ทิวลิป ดอยผาหม่น & ดอยผาแดง ทิวลิป เป็นดอกไม้เมืองหนาวที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของฮอลแลนด์ มีอยู่หลายสี ดอกทิวลิปจะปลูกได้ต้องใช้อุณหภูมิที่เหมาะสม คือไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ด้วยอากาศเย็นสบายของทางภาคเหนือบ้านเราจึงมีการทำพันธ์ดอกทิวลิปเข้ามาเพาะ ขยายและศึกษา ที่แรกที่จะมาไปชมคือ “ศูนย์ส่งเสริมการเกษตรที่สูงดอยผาหม่น” บ้านร่มโพธิ์ไทย ต. ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย ทิวลิป ที่ชูช่อบานสะพรั่งบนดอยผาหม่นมีนับหมื่นต้น เริ่มปลูกขึ้นตั้งแต่ปี 2537 กว่า 9 สายพันธุ์ คือ Strong Gold ดอกสีเหลือง Parade ดอกสีแดง Apel Doorn ดอกสีส้ม Negrita ดอกสีม่วง Don Quichotte สีชมพู Blenda สีชมพูโคนขาว Ile de France สีแดง Gander สีม่วงแดง และ Inzell ดอกสีขาว ตามธรรมชาติแล้วทิวลิปจะเจริญเติบโตในอุณหภูมิเฉลี่ย 18-20 องศาเซลเซียส ใช้ระยะเวลาในการปลูกราว 40 วัน ดอกจึงจะบานและจะสามารถอยู่ได้นาน 7 ถึง 15 วันในสภาพภูมิอากาศบนดอย หากนำลงมาข้างล่างจะอยู่ได้เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น กลีบสุดท้ายของฤดูกาลบนดอยผาหม่น จะเป็นของดอกสีม่วง จากพันธุ์ Negrita ดอกทิวลิปที่นี่ศูนย์แห่งนี้จะบานในฤดูหนาว ช่วงเดือนธ.ค. – ม.ค. ทั้งยังมีแปลงไม้ดอกเมืองหนาวหลากสี เช่น ดอกลิลลี่ ดอกฟ๊อกซ์ ซัลเวียแดง บลูซัลเวีย อาซาเลีย ไฮเดรนเยีย ลิลี่ เบญจมาศ แปลงผักปลอดสารพิษ อีกหนึ่งสถานที่ชมทิวลิปอยู่ที่ดอยผาแดง ต.หนองบัว อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ เส้นทางขึ้นดอยอ่างขาง เป็นทิวลิปจากประเทศเนเธอร์แลนด์และจีน รวม 4 สายพันธุ์ 4 สี ได้แก่ สีแดง ม่วง เหลือง และขาวแดง ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังดอยอ่างขางหรือใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง ไป จ.เชียงราย สามารถแวะเข้าสัมผัสได้อย่างสะดวกสบาย ถนนดอกไม้ ทองกวาวบานตระการตา จ.พะเยา เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์จาก อ.ดอกคำใต้ไป อ.จุน จ.พะเยา คือเส้นทางซึ่งสวยที่สุดจนแทบไม่น่าเชื่อว่า จะมีเส้นทางเช่นนี้อยู่จริงในเมืองไทย ช่วงซึ่งดีที่สุดบนถนนสายนี้ที่จะเห็นดอกทองกวาวบานมีระยะทางราว 20กม. นับจากกิโลเมตรที่ 5 เป็นต้นไป โดยในฤดูนี้สองข้างทางจะกลับกลายจากถนนสายธรรมดาๆ เป็นถนนสายดอกไม้บานที่มีสีสันตระการตา อย่างไม่น่าเชื่อนั่นคือ ดอกทองกวาว (Butea monosperma) สีแสดซึ่งมองเห็นเด่นชัดไปไกลสุดสายตา สวยจนได้รับการบรรจุให้อยู่ในโครงการ 12เดือน 7 ดาว 9 ตะวัน ของ ททท. ช่วงเวลาที่ดีที่สุด ช่วงเวลาเช้าและเย็นฤดูกาลที่ดีที่สุด เดือนกุมภาพันธ์ จุดชมวิวที่ดีที่สุด ประมาณกม.ที่ 5 จาก อ.ดอกคำใต้ไป อ.จุน จ.พะเยา เส้นทางนี้ยังสามารถเดินทางต่อไป ขึ้นภูชี้ฟ้าได้ โดยที่ฤดูเดียวกันนี้บนภูชี้ฟ้า ก็มีดอกเสี้ยวกำลังบานรอคุณอยู่ด้วยเช่นกัน |
| ดอกฝิ่นปลูกเพื่อการท่องเที่ยว ณ บ้านม้งดอยปุย | | | ดู ‘ดอกฝิ่น’ บนดอยปุย จ.เชียงใหม่ แถมท้ายสถานที่ดูดอกไม้ไม้ดีๆอีกที่หนึ่ง คือ ที่ ดอยปุย จ.เชียงใหม่ บริเวณชุมชนม้งดอยปุย ห่างจากพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเศน์ 3 กม. มีจุดเด่นที่รวบรวมไว้ ณ จุดนี้คือ มีน้ำตกธรรมชาติขนาดเล็ก ที่ยังคงธรรมชาติไว้เช่นเดิม แปลงปลูกไม้ดอกนานาชนิด บ้านม้งตัวอย่าง ซึ่งภายในบ้านจะมีการจัดแสดงสิ่งแปลกประหลาดที่เก็บรวบรวมได้ และที่ไฮไลต์ในศูนย์ท่องเที่ยวแห่งนี้คือ แปลงสาธิตการปลูกฝิ่น ที่ได้ขออนุญาตปลูกถูกต้อง มีดอกฝิ่นออกดอกให้ชม ให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก กล่าวได้ว่า หากใครจะดูการปลูกฝิ่น ดูดอกฝิ่น ในประเทศไทยมีอยูที่นี่ที่เดียว เพราะเขาต้องการทิ้งไว้เตือนใจว่าเดิมที่นี่เคยมีการปลูกฝิ่น ที่นิยมปลูกกันเช่นอดีต ก็ได้เลิกราไป จึงหันมาปลูกพืชอื่นที่มีรายได้ดีกว่า เช่น การปลูกไม้ผล ไม้ดอกเมืองหนาว เป็นการทดแทน ขาวโพลนทั่วป่า นามว่าดอกเสี้ยว เหนือขึ้นไปจากดอยผาหม่นอีกไม่ไกลในเส้นทางเดียวกันบนยอดดอย “ภูชี้ฟ้า” จ.เชียงราย ช่วงเดือนม.ค. – ก.พ. นอกจากจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและวิวทะเลหมอกอันเลื่องชื่อแล้ว บนภูชี้ฟ้ายังเป็นช่วงที่ดอกเสี้ยวบานขาวโพลนเป็นเวิ้งทั่วป่ารอบเชิงเขาอีก ด้วย ”ดอกเสี้ยว”หรือ”ชงโคป่า”นิยมขึ้นตามภูเขาเทือกเขาดอยผาหม่น สวยสะพรั่งบนยอดดอยเป็นสัญลักษณ์แห่งความสวยงามอีกหนึ่งเสน่ห์ของภูชี้ฟ้ามี ทั้งสีขาวและสีชมพูอ่อน ในช่วงเดือน ก.พ.ะหว่างวันที่ 13-15 ของทุกปี จะมีการจัดงานเทศกาลดอกเสี้ยวบาน แต่ก่อนและหลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์นักท่องเที่ยวก็สามารถขึ้นไปเยี่ยมชมได้ เพราะเป็นช่วงที่ดอกเสี้ยวผลิบานทั่วขุนเขา หนาวนี้คิดได้หรือยังว่าจะจะเดินทางขึ้นเหนือยลบุปผางามแห่งไหนดี. |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
อารายเหรอ