วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ย้อนอดีตโครงการอวกาศจีน

ย้อนอดีตโครงการอวกาศจีน

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 13 ตุลาคม 2548

วานนี้ (12 ต.ค.) โครงการอวกาศจีนได้ทำให้ความฝันในการส่งมนุษย์ขึ้นสำรวจจักรวาลประสบความสำเร็จอีกครั้ง หลังจากจรวดลองมาร์ช 2- F ได้นำพายานเสินโจว 6 ทะยานขึ้นสู่วงโคจรโลกจากสถานยิงดาวเทียมจิ่วเฉวียน กลางทะเลทรายโกบี ในมรฑลกันซุ่ เมื่อเวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นหรือ 08.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย โดยมีเฟ่ยจวิ้นหลงและเนี่ยไห่เซิ่ง 2 นักบินอวกาศขึ้นเป็นปฏิบัติภารกิจนอกโลกเป็นเวลา 5 วัน นับเป็นการขนส่งมนุษย์สู่ห้วงอวกาศครั้งที่ 2 ของจีน

จากบันทึกในปี ค.ศ. 1945 ของผู้เชี่ยวชาญด้านจรวดชาวอเมริกัน Herbert S.Zin การทดลองด้านการบินของจีนได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในราวศตวรรษที่ 15 ซึ่งตรงกับสมัยราชวงศ์หมิง ( ค.ศ. 1368-1644) โดยช่างทำดอกไม้ไฟชาวจีนที่ชื่อว่า Wanhoo ต่อมาชาวจีนได้เลียนเสียงทับศัพท์เป็น ‘วั่นหู่’ บ้าง ‘วั่นฮู่’ บ้าง วั่นหู่

ภาพเขียนที่ไม่ปรากฎที่มาของการทดลองทำจรวดครั้งแรกของจีนโดยวั่นหู่

วั่นหู่ ได้คิดค้นอุปกรณ์สำหรับควบคุมการบิน ซึ่งตามบันทึกระบุว่ามีลักษณะคล้ายงูสองตัวติดกัน หลังจากนั้นเขาได้นำเก้าอี้วางไว้ที่ด้านบนของอุปกรณ์ดังกล่าว จากนั้นจึงนำหิ้งไม้ซึ่งประกบกับ ‘บั้งไฟ’ จำนวน 47 ลำมาติดตั้งไว้ที่ด้านหลังของพนักเก้าอี้

ต่อมาวั่นหู่ ได้ขึ้นนั่งบนเก้าอี้ ขณะที่มือทั้งสองข้างถือพัด (บ้างก็ว่าถือว่าว) ก่อนที่เขาได้สั่งให้คนจุดบั้งไฟทั้ง 47 ลำพร้อมกัน วั่นหู่ หวังให้ปฏิกิริยาขับดันของบั้งไฟทำให้เขาทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าได้ แต่น่าเสียดายที่เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามคาด หลังจากจรวดได้รับการจุดไฟแล้ว นักคิดค้นจรวดคนแรกของจีนได้อำลาโลกนี้ไปท่ามกลางกลุ่มควันและเปลวไฟ

แม้ว่าการทดลองขณะนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ชาวจีนก็ไม่เคยละทิ้งความพยายามที่จะขึ้นไปสำรวจห้วงจักรวาลอันยิ่งใหญ่ พญามังกรได้คิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศมาเป็นลำดับขั้นจนถึงปัจจุบัน

1956- สถาบันวิจัยจรวดและขีปนาวุธแห่งแรกของแดนมังกรก็ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ

1957- รัฐบาลมังกรเริ่มโครงการดาวเทียมเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ "ปฏิบัติการ 581"

1960- จีนคิดค้นจรวดลำแรก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของจรวดตระกูล CZ ที่ย่อมาจากฉางเจิง (Changzheng) หรือ Long Marchโดยได้รับความช่วยเหลือจากนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย

1964 – ตัวอย่างด้านชีววิทยาบรรจุในหลอดทดลอง 12 หลอด รวมทั้งหนูเผือก หนูสีขาวอย่างละ 4 ตัว ถูกนำขึ้นจรวด T-7A-S ซึ่งพุ่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศที่ความสูง 70 กิโลเมตรเหนือระดับท้องทะเล

1968 - สถาบันด้านวิศวกรรมอวกาศและการแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่วิจัยเกี่ยวกับยานอวกาศพร้อมนักบินได้เปิดขึ้นครั้งแรก

1970 -วันที่ 24 เมษายน จีนเป็นประเทศที่ 5 ของโลกที่ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ คือ ตงฟางหง -1 (DFH-1) โดยใช้จรวดขนส่งฉางเจิง

1980 -หนังสือพิมพ์ของทางการหลายฉบับได้เผยแพร่บทความและรูปภาพเกี่ยวกับการ เตรียมการของโครงการยานอวกาศพร้อมนักบิน แต่โครงการดังกล่าวในขณะนั้นไม่ปรากฎเป็นรูปธรรม เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ

1992 -ขณะที่จันตั้งให้โครงการยานอวกาศพร้อมนักบินเป็นเป้าหมายในระยะกลางและยาว คณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติ 'โครงการ 921' ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ' เสินโจว ' หรือ ‘เรือเทวดา'

1993 - เจ้าหน้าที่จีนไปเยี่ยมชมโครงการอวกาศของรัสเซีย

1994- จรวด CZ-2D ภายในบรรทุกสัตว์เล็กๆหลากหลายชนิด ถูกยิงสู่ห้วงอวกาศ

1995 -โครงการอวกาศจีนพบกับเหตุการณ์เศร้าสลด เมื่อ CZ-2E ระเบิดระหว่างขึ้นจากสถานียิงดาวเทียมซีชัง มณฑลเสฉวน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย

1996 - จีนลงนามในข้อตกลงรับเทคโนโลยีด้านอวกาศของรัสเซีย

1997 - อู๋เจี๋ยและหลี่จิ้นหลง สำเร็จหลักสูตรการฝึกอบรมระยะเวลา 1 ปี จากสตาร์ ซิติ้ สถาบันฝึกอบรมด้านอวกาศในกรุงมอสโคว์ ของรัสเซียและได้รับการรับรองคุณสมบัติผู้ฝึกอบรมด้านอวกาศจากสถาบันดังกล่าว

1999 - ยานเสินโจว ขึ้นสู่ห้วงอวกาศพร้อมตัวอย่างด้านชีววิทยา ด้วยจรวด CZ-2F ในวันที่ 20 พฤศจิกายนและกลับสู่พื้นโลกหลังจากโคจรรอบโลก 14 รอบ

2000 - ในฮ่องกง ยานเสินโจว ถูกนำมาจัดแสดงครั้งแรก

2001- ยานเสินโจว 2 ทะยานขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 9 มกราคมและกลับสู่พื้นโลกที่เขตปกครองตนเอง มองโกลเลียใน

2002 - ยานเสินโจว 3 ทะยานขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 25 มีนาคม ในสมัยของประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน และได้กลับสู่พื้นโลกในวันที่ 1 เมษายน หลังจากโคจรรอบโลก 108 รอบ และต่อมาไม่นาน จีนประกาศที่จะสร้างสถานีอวกาศ

วันที่ 29 ธันวาคม ปีเดียวกัน ยานเสินโจว 4 ถูกส่งขึ้นวงโคจรโลกและกลับมายังพื้นโลกในวันที่ 4 มกราคม 2003 ต่อมาในเดือนเดียวกัน จีนประกาศว่ากำลังวางแผนที่จะส่งยานพร้อมมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ

2003 -วันที่ 15 ตุลาคม เสินโจว 5 ยานอวกาศพร้อมมนุษย์ลำแรกของจีนได้ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ หยางลี่เหว่ย มนุษย์อวกาศคนแรกของจีนกลับสู่โลก หลังจากท่องอยู่ในอวกาศนาน 21 ชั่วโมงและโคจรรอบโลก 14 รอบ

2004 -หวังหย่งจื้อ หัวหน้านักออกแบบในโครงการอวกาศจีนกล่าวว่า จีนมีแผนที่จะสร้างสถานีอวกาศภายใน 15 ปี.

จีนประสบความสำเร็จในการส่งยานพร้อมนักบิน เสินโจว 5 ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ


โครงการอวกาศ 'เสินโจว 6'

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 13 ตุลาคม 2548

เสินโจว 6' ท้าทายประวัติศาสตร์การบินของจีน

เสินโจว 6' ท้าทายสมรรถนะและภูมิปัญญานักวิทยาศาสตร์จีน


กินอยู่ในอวกาศกับยาน ‘เสินโจว 6’

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 11 ตุลาคม 2548

ตามรายงานล่าสุด หากว่าสภาพอากาศเป็นใจยานอวกาศ ‘เสินโจว 6’ ก็จะถูกยิงขึ้นสู่อวกาศในวันพรุ่งนี้ และนับเป็นครั้งที่ 2 ที่จีนจะส่งยานอวกาศพร้อมนักบินขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ ครั้งที่แล้ว หยางลี่เหว่ยขึ้นไปโคจรรอบโลก 14 รอบพร้อมกับยาน ‘เสินโจว 5’ เป็นเวลา 21 ชั่วโมง แต่ครั้งนี้ยานเสินโจว 6 จะนำนักบินที่ขณะนี้ยังไม่เปิดเผยรายชื่อว่าเป็นใครจำนวน 2 คน ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนอวกาศ 5 วัน

ถึงแม้รูปลักษณ์ภายนอกของยานอวกาศเสินโจว 5 และยานหมายเลข 6 จะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่เนื่องด้วยจำนวนนักบินและวันปฏิบัติงานในอากาศที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้พวกเขาต้องคำนึงถึงการกินอยู่ขับถ่ายของนักบินด้วย การส่งยานเสินโจว 6 ครั้งนี้จึงนับเป็นภารกิจที่ท้าทายพัฒนาการของวิศวกรรมเทคโนโลยีอวกาศของจีนอีกขั้นหนึ่ง

อาหารจานเด็ดสูตรจีนถูกออกแบบมาเพื่อนักบินรับประทานบนอวกาศ

เมนู อาหารของหยางลี่เหว่ย ที่นำขึ้นไปรับประทานบนอวกาศครั้งที่แล้ว เป็นหมูซอสกระเทียมและไก่ทอด ‘อาหารอวกาศ’ทั่วไปที่ไม่ต้องผ่านความร้อนหรือเติมน้ำก็รับประทานได้ทันที แต่สำหรับนักบินของยานเสินโจว 6 นี้ต้องการอาหารอย่างต่ำ 15 มื้อ (หากไม่มีการเลื่อนกำหนดวันเดินทางกลับโลก) พวกเขาจึงต้องนำอาหารและเครื่องดื่มชนิดแช่แข็งและแห้งขึ้นไปจำนวนมาก ยานเสินโจว 6 จึงได้มีการติดตั้งเครื่องใช้เพื่อการรับประทานอาหาร อุปกรณ์เติมน้ำ เตาอบ ถังขยะไว้ในยานโคจร เพื่อนักบินจะสามารถรับประทานอาหารร้อนๆและมีน้ำร้อนดื่มบนอวกาศได้

โดยนักบินจะได้รับประทานอาหารหมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกวันกว่า 40 ชนิด อาทิ ผัดเนื้อเส้น ไก่ผัดเสฉวน ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นเนื้อ เนื้อย่าง เนื้อผัดน้ำแดง ข้าวสวย ข้าวธัญพืช ข้าวแกงกะหรี่ ข้าวผัด รวมไปถึงของหวานและผลไม้แช่แข็งต่างๆ

สำหรับเสื้อผ้านักบินที่เห็นแต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศก่อนขึ้นยานนั้นก็สามารถเปลี่ยนถอดออกได้ โดยนักวิจัยแห่งศูนย์วิจัยวิศวกรรมการแพทย์ด้านอวกาศของจีนคุยว่า นักบินของยานเสินโจว 6 สามารถถอดชุดนักบินอวกาศที่มีน้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัมออก และเปลี่ยนเป็นชุดช่างที่ออกแบบให้ใช้ในการทำงานในยานได้สะดวกสบายขึ้น ซึ่งไม่เหมือนกับที่หยางลี่เหว่ยต้องแบกน้ำหนักชุดนักบินเต็มยศอยู่ตลอดการทำงาน 21 ชั่วโมงเมื่อคราวท่องอวกาศครั้งที่แล้ว

ซ้าย - 'ชุดโถส้วมพิเศษ' สำหรับถ่ายทุกข์ของนักบินอวกาศขณะปฏิบัติหน้าที่บนยานเสินโจว 6 ท่อปากใหญ่สำหรับการถ่ายหนัก ท่อปากเล็กสำหรับการถ่ายเบา ภาพกลาง - ชุดนักบินอวกาศจีนน้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัม ขวา - ถุงนอนสำหรับนอนบนอวกาศ


ชุดนักบินอวกาศที่ประกอบด้วยเสื้อกางเกง หมวก ถุงมือและรองเท้า เป็นสำคัญ ซึ่งครั้งนี้จะต้องเตรียมถึง 3 ชุดต่อนักบิน 1 คน ซึ่งต้องออกแบบและผลิตขึ้นให้รับกับการใช้งานในสถานการณ์ฉุกเฉินตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการผลิตและออกแบบชุดนักบินอวกาศยานเสินโจว 5 ที่ผ่านมารวมทั้งสิ้นกว่าหนึ่งร้อยล้านหยวน ขณะที่ตัวเลขค่าใช้จ่ายครั้งนี้ยังไม่มีการเปิดเผย

นอกจากอาหารและเสื้อผ้านักบินแล้ว ความพิเศษของยานเสินโจว 6 ลำใหม่นี้ คือ วิศวกรยังมีการออกแบบถุงนอน และติดตั้ง ‘โถส้วมพิเศษ’ ไว้บนยานโคจรเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักบินในการใช้ชีวิตบนอวกาศอีกด้วย เนื่องจากครั้งนี้ภารกิจตั้ง 5 วัน จะให้ใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่เหมือนคุณหยางลี่เหว่ย เห็นทีจะไม่ไหวจ๊ะ .

เรียบเรียงจาก นิวส์ 163 ดอท คอม


จรวดขนส่งลองมาร์ช นำยานโคจร 'เสินโจว 6' ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ในวันที่ 12 ตุลาคม 2005 ที่ผ่านมา

เฟ่ยจวิ้นหลง และเนี่ยไห่เซิ่ง โบกมืออำลาพี่น้องร่วมชาติ ก่อนขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนห้วงอวกาศกับยาน 'เสินโจว 6'

โฉมหน้านักบินอวกาศของจีนที่เข้าฝึกอบรมในโครงการอวกาศ 'เสินโจว 6'

วินาทีที่จรวดฉางเจิงถูกยิงออกจากฐานส่งจรวดที่สถานียิงดาวเทียมจิ่วเฉวียน

ทะยานออกจากฐานปล่อยจรวด

ขึ้นสู่ท้องฟ้า

ภายในยาน 'เสินโจว 6' ภายหลังขึ้นสู่ท้องฟ้าไม่กี่นาที

เด็กนักเรียนในเสิ่นหยังร่วมลุ้นการส่งยานเสินโจว 6 ขึ้นสู่ห้วงอวกาศทางอินเตอร์เน็ต

'เรือเทวดา' บนฟากฟ้า

เฟ่ยจวิ้นหลง กำลังเตรียมเคลื่อนตัวไปสู่โมดูลควบคุมวิถีวงโคจร เพื่อเริ่มการทดลองทางวิทยาศาสตร์ หลังยานเสินโจว 6 เปลี่ยนวงโคจรจากวงรีเป็นวงกลม

เนี่ยไห่เซิ่ง (ซ้าย) และเฟ่ยจวิ้นหลง ขณะคุยโทรศัพท์กับครอบครัวเป็นครั้งแรก หลังยานอวกาศพร้อมมนุษย์ลำที่ 2 ของจีนขึ้นท่องอวกาศเมื่อเวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) วันที่ 12 ต.ค. 2005

2 นักบินเตรียมพร้อม

2 นักบินอวกาศของจีนลงสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัยในเช้ามืดวันที่ 17 ตุลาคม ณ พื้นที่ลงจอดกลางทุ่งปศุสัตว์อันกว้างใหญ่ของเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ท่ามกลางความภาคภูมิใจและดีใจของทุกฝ่าย

ประชาชนร่วมเฉลิมฉลองในความสำเร็จของปฏิบัติการ 'เสินโจว 6'

ทั่วประเทศต้อนรับการกลับบ้านของ 2 ฮีโร่ เฟ่ยจวิ้นหลงและเนี่ยไห่เซิ่ง ที่กรุงปักกิ่ง


'เสินโจว6' กลับสู่โลกอย่างปลอดภัย

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 17 ตุลาคม 2548 10:29 น.



เอเอฟพี16/10/05 - นักบิน ‘เสินโจว 6’ กลับถึงโลกอย่างปลอดภัย เมื่อเวลา 03.32 น. ที่ผ่านมา ตอกย้ำความสำเร็จด้านอวกาศของแดนมังกร

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า เฟ่ยจวิ้นหลงและเนี่ยไห่เซิ่ง 2 นักบินอวกาศขึ้นไปปฏิบัติภารกิจนอกโลกเป็นเวลา 5 วัน หลังขึ้นสู่ห้วงอวกาศพร้อมยาน 'เสินโจว 6' เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว (12 ต.ค.) ได้เดินทางกลับสู่โลกแล้วอย่างปลอดภัย ช่วงเช้าตรู่วันนี้ เมื่อเวลา 04.33 น. ตามเวลาท้องถิ่น (03.33 น. ตามเวลาในประเทศไทย)

นักบินของเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งของทีมภาคพื้นดินรายงานว่า แคปซูลของ 'เสินโจว 6' ลงสู่พื้นดินห่างจากจุดลงจอดที่กำหนดไว้ในเขตซื่อจื่อหวังฉี เขตปกครองตนเองมองโกเลียในเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งห่างจากจุดที่เสินโจว 5 ลงจอดเมื่อ 2 ปีที่แล้วราว 6 กิโลเมตร

นักบินอวกาศทั้งสองคนสามารถออกจากแคปซูลได้ด้วยตัวเอง โดยนักบินอวกาศเฟ่ยจวิ้นหลงปรากฏตัวขึ้นมาก่อน ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความยินดี ตามด้วยนักบินอวกาศเนี่ยไห่เซิ่ง ทั้งคู่พากันโบกช่อดอกไม้ที่ได้รับ เฟ่ยกล่าวว่ารู้สึกสบายดี ส่วนเนี่ยกล่าวขอบคุณประชาชนที่เป็นห่วงและให้การสนับสนุน

จากนั้นทั้งคู่ได้รับประทานช็อกโกแลตและชาจีน ซึ่งเนี่ยไห่เซิ่งดูจะเจริญอาหารเป็นพิเศษ เพราะเขาจัดการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต่ออีกหนึ่งชาม ทั้งนี้ ผลตรวจร่างกายชี้ว่านักบินทั้งสองสุขภาพแข็งแรงดี

หลังจากนั้น ในเวลา 09.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ฮีโร่อวกาศคู่ใหม่ของจีนได้เดินทางมาถึงสนามบินซีเจียวในปักกิ่ง ซึ่งได้รับการต้อนรับการกลับสู่พื้นโลกอย่างอบอุ่น

อย่างไรก็ตาม นักบินทั้ง 2 จะถูกเก็บตัวไว้เพื่อสังเกตการณ์เป็นเวลา 14 วัน แต่สมาชิกในครอบครัวสามารถเข้าเยี่ยมได้ หนังสือพิมพ์ เป่ยจิง ยุธ เดลี่ กล่าวเมื่อวันอาทิตย์

สำหรับปฏิบัติการอวกาศเสินโจว 6 นับเป็นภารกิจการส่งมนุษย์ขึ้นท่องอวกาศครั้งที่ 2 ของจีน ห่างจากปฏิบัติการเสินโจว 5 ที่ส่งหยางลี่เหว่ย นักบินอวกาศคนแรกของจีนขึ้นโคจรรอบโลก เกือบ 2 ปีเต็ม โดยจีนเป็นประเทศที่ 3 ที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นท่องอวกาศ นอกจากรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ เสินโจว 6 โคจรรอบโลก 76 รอบ คิดเป็นระยะทางมากกว่า 3.25 ล้านกิโลเมตร (1.9 ล้านไมล์ ) ในระยะเวลา 115 ชั่วโมง 32 นาที ด้วยความเร็ว 7.9 กิโลเมตรต่อวินาที ขณะที่เสินโจว 5 โคจรรอบโลก 14 รอบเพียง 21 ชั่วโมงเท่านั้น.


นักบินทั้ง 2 ในแคปซูลก่อนที่จะเปิดประตูออกไป

เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินเปิดประตูแคปซูล

นักบินอวกาศเฟ่ยจวิ้นหลง ออกจากแคปซูลมาเป็นคนแรก

โบกมือทักทายผู้คนซึ่งส่งเสียงโห่ร้องกึกก้อง

เฟ่ยจวิ้นหลงโบกมือทักทาย

ตามมาด้วยนักบินอวกาศเนี่ยไห่เซิ่ง


เกร็ดชีวิตฮีโร่อวกาศจีนคู่ใหม่

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 ตุลาคม 2548

เฟ่ยจวิ้นหลง

เฟ่ยจวิ้นหลง เป็นคนเมืองซูโจว มณฑลเจียงซู ได้ชื่อว่าเป็นลูกกตัญญูคนหนึ่ง เพราะแม้ว่าหลังจากเข้าประจำการในกองทัพแล้ว ก็ยังพยายามโทรศัพท์กลับบ้านทุกสัปดาห์ และส่งเงินกลับบ้านทุกตรุษจีนครั้งละไม่ต่ำกว่า 4-5,000 หยวน ซึ่งโดยปกติแล้วเขาจะกลับบ้าน 4 ปีต่อ 1 ครั้งในเทศกาลตรุษจีน แต่ว่าในปีนี้ ซึ่งยังไม่ครบกำหนดดังกล่าว ก็ทำให้คนในบ้านประหลาดใจและเอะใจว่าเขาอาจได้รับภารกิจสำคัญมากจึงได้รับอนุญาตให้มาเยี่ยมบ้านก่อนกำหนด ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเกี่ยวกับยานเสินโจว 6

สำหรับชีวิตครอบครัว ภรรยาของเขาเป็นนักศึกษาที่จบจากโรงเรียนการบินมาด้วยกัน ปัจจุบันมีบุตรชาย 1 คนที่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมปีที่ 1 และมีความสามารถทางดนตรี ครอบครัวของเขาถือว่าเป็นครอบครัวที่อบอุ่นครอบครัวหนึ่งที่เดียว

เนี่ยไห่เซิ่ง

ส่วนเนี่ยไห่เซิง ผู้ซึ่งเกิดในอำเภอหยางฉั่ง ซึ่งเป็นเขตยากจนแห่งหนึ่ง ในเมืองเจ่าหยาง มณฑลหูเป่ย เป็นน้องคนที่ 6 ในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 8 คน พวกเขาเติบโตขึ้นมาได้ด้วยกำลังของแม่ที่เป็นผู้เลี้ยงดูครอบครัวด้วยการคั่วเม็ดแตงเพียงคนเดียว เพราะบิดาป่วยและเสียชีวิตไปตั้งแต่ยังเด็ก

ปัจจุบันเนี่ยไห่เซิงสมรสแล้วกับภรรยาที่เป็นทหารเช่นเดียวกัน และมีบุตรสาวอายุ 12 ปี ในช่วงแรกนั้น ภรรยาของเขาคัดค้านการเข้าคัดเลือกเป็นนักบินอวกาศอย่างหนัก เนื่องจากยังฝังใจกับความล้มเหลวของยานเชนเลนเจอร์ของสหรัฐฯ จนบรรยากาศในครอบครัวตอนนั้นมีแต่ความเย็นชา แต่ทว่า เนี่ยไห่เซิงก็ยังยืนหยัดและพยายามโน้มน้าว จนในที่สุดก็มีวันนี้ วันแห่งความสำเร็จของเขา.


ยานเสินโจว 6 โคจรเหนือฟากฟ้า

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 ตุลาคม 2548

ภายในห้องควบคุมบนตัวยาน

เอเอฟพี/ ไชน่านิวส์เน็ต 12/10/05-ยานอวกาศเสินโจว 6 ได้ทะยานออกจากฐานยิงจรวดจิ่วเฉวียนแล้วอย่างราบรื่น ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 ที่จีนส่งนักบินขึ้นท่องอวกาศ หลังจากความสำเร็จครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ปี 2003

ยานขนส่งลองมารช 2 เอฟ (Long March 2F) ได้นำพายานอวกาศเสินโจว 6 พร้อมนักบิน 2 นาย ได้แก่ เฟ่ยจวิ้นหลง และเนี่ยไห่เซิ่ง ทะยานขึ้นฟ้าจากสถานนียิงดาวเทียมจิ่วเฉวียน มณฑลกันซู่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน ในเวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) หรือ 08.00 น.ตามเวลาในประเทศไทยเช้าวันนี้ (12 ต.ค.) และจะปฏิบัติภารกิจในอวกาศเป็นเวลา 5 วัน

เสินโจว 6 ได้ค่อยๆ ทะยานสู่ฟากฟ้า หลังออกจากฐานราว 40 วินาที ซึ่งกล้องที่ติดอยู่ภายในแคปซูล แสดงภาพ เนี่ยไห่เซิ่ง โบกมือ พร้อมส่งเสียงทักทายมายังภาคพื้นว่า “สภาพการบินปกติ” และ “สภาพร่างกายสบายดี”

หลังจากนั้นราว 21 นาที เสินโจว 6 ได้เข้าสู่วงโคจรที่กำหนด โดยเมื่อยานอยู่เหนือพื้นโลกในระดับ 200 กิโลเมตร จะโคจรรอบโลกในแนววงรี 5 รอบ จากนั้นเมื่อลอยขึ้นไปในระดับ 343 กิโลเมตร จะค่อยเปลี่ยนวงโคจรเป็นวงกลม โดยการโคจร 1 รอบจะใช้เวลา 90 นาที และมีกำหนดจะโคจรเป็นเวลาทั้งสิ้น 119 ชั่วโมง หรือประมาณ 5 วัน ก่อนที่โมดูลกลับสู่พื้นโลก (returnable module) จะล่อนลงยังทุ่งหญ้าที่มองโกเลียใน

ยานเสินโจว 6 บนฟากฟ้า

ทั้งนี้ คาดว่ายานเสินโจว 6 จะเริ่มโคจรเป็นวงกลม เย็นนี้ ในเวลาประมาณ 16.00น. (15.00น.ตามเวลาในไทย) ซึ่งเป็นระดับที่จะเริ่มมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้น นักบินอวกาศทั้งสองจะมีการสื่อสารข้อมูลกับหน่วยปฏิบัติการที่ภาคพื้นเป็นระยะทั้งหมด 38 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นภารกิจต่างๆ บนยาน ความรู้สึก รวมทั้งการดื่มน้ำคำแรก การทานอาหารครั้งแรก หรือก่อนจะเข้านอน ฯลฯ โดยจะบันทึกการสื่อสารทั้งหมดไว้ทั้งสองฝ่ายด้วย.

อีกมุมหนึ่งจากใต้ยาน


รู้จักยานอวกาศ “เสินโจว 6”

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 ตุลาคม 2548

ยานเสินโจว 6

ยานเสินโจว 6 ทะยานขึ้นอวกาศจากสถานยิงดาวเทียมจิ่วเฉวียน ด้วยจรวดขนส่งฉางเจิงหรือลองมาร์ช เมื่อเวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นหรือ 08.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย โดยมีเฟ่ยจวิ้นหลงและเนี่ยไห่เซิ่ง 2 นักบินอวกาศขึ้นเป็นปฏิบัติภารกิจนอกโลกเป็นเวลา 5 วันนับเป็นการขนส่งมนุษย์สู่ห้วงอวกาศครั้งที่ 2 ของจีน

สำหรับโครงสร้างของยานเสินโจว 6 ภายนอกไม่ต่างจากเสินโจว 5 เท่าใดนัก ซึ่งการออกแบบยังเป็นไปตามแนวทางของยาน Soyuz จากอดีตสหภาพโซเวียต แต่ภายในของเสินโจว 6 มีการออกแบบให้เหมาะสำหรับจำนวนนักบินที่เพิ่มขึ้น และการประกอบกิจกรรมในระยะเวลาที่นานกว่า

โดยยานอวกาศจะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ โมดูลควบคุมวิถีการโคจร (orbital module) คือส่วนที่นักบินทำงานและอาศัยอยู่ระหว่างการโคจรรอบโลก 119 ชั่วโมงหรือราว 5 วัน ภายในจะติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการกิน อยู่ หลับนอน รวมทั้งอุปกรณ์การทดลองทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะถูกปล่อยทิ้งให้โคจรและทำการทดลองต่อไปในอวกาศ

ส่วนที่ 2 คือ โมดูลกลับสู่พื้นโลก (returnable module) เป็นส่วนบังคับการที่ซึ่งนักบินอยู่ขณะที่ยานอวกาศขึ้นและกลับสู่พื้นโลก และส่วนที่ 3 คือ โมดูลขับดัน (propulsion module) หรือส่วนบริการ ซึ่งจะบรรทุกแบตเตอรี่ อุปกรณ์ควบคุมสภาพแวดล้อมภายในยาน และระบบสื่อสาร โดยส่วนที่ 1 และ 3 จะมีแผงโซล่าร์เซลล์รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ด้วย.


เสินโจว 6 ทะยานขึ้นฟ้า พา 2 นักบินอวกาศจีนออกปฏิบัติภารกิจแล้ว

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 ตุลาคม 2548

จรวดลองมาร์ชได้นำพายานเสินโจว 6 ทะยานขึ้นอวกาศจากสถานยิงดาวเทียมจิ่วเฉวียน เมื่อเวลา 09.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นหรือ 08.00 น.ตามเวลาในประเทศไทย โดยมีเฟ่ยจวิ้นหลงและเนี่ยไห่เซิ่ง 2 นักบินอวกาศขึ้นเป็นปฏิบัติภารกิจนอกโลกเป็นเวลา 5 วันนับเป็นการขนส่งมนุษย์สู่ห้วงอวกาศครั้งที่ 2 ของจีน

ทั้งนี้ นายเฟ่ยจวิ้นหลง อายุ 40 ปี เป็นชาวคุนซัน มณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของจีน ซึ่งเคยได้รับคัดเลือกให้ร่วมโครงการปล่อยยานเสินโจว 5 เมื่อปี 2003 เขาสอบเข้าเป็นนักบินของกองทัพอากาศจีนเมื่ออายุ 17 ปี และเข้าร่วมอบรมนักบินอวกาศรุ่นแรกของจีนเมื่อปี 1998

ด้วยภารกิจที่ต้องทำเพื่อชาติ ทำให้ตลอด 23 ปีที่รับราชการทหาร มีโอกาสกลับบ้านเกิดเพียง 6 ครั้ง คนรอบข้างจำนวนมากไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นนักบินอวกาศของชาติ ปัจจุบัน นายเฟ่ยจวิ้นหลง พักอาศัยอยู่ที่กรุงปักกิ่งกับภรรยา นางซี่เจี๋ย และลูกชายวัย 14 ปี

ส่วนนายเนี่ยไห่เซิ่งอายุ 41 ปี เป็นชาวเมืองเจ่าหยาง มณฑลหูเป่ย เริ่มเข้ารับราชการทหารตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 1983 และในปี 1987 จึงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการบินทหารบกที่ 7 เป็นนักบินรบแห่งกองทัพอากาศ เข้าโครงการนักบินอวกาศรุ่นแรก ตลอดจนได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 3 ของนักบินที่จะเลือกขึ้นไปกับยานเสินโจว 5 เมื่อปี 2003 เช่นเดียวกับ

เนี่ยไห่เซิ่งมีความฝันเป็นนักบินอวกาศมาตั้งแต่วัยเยาว์แล้ว เขาเคยเล่าว่าในสมัยก่อนที่ยังเป็นเด็กเลี้ยงวัวอยู่ตามเชิงเขา มีครั้งหนึ่งเคยหลับกลางวันและฝันประหลาดว่าตัวเองมีปีกงอกออกมาจากหลัง ซึ่งตอนนั้นเขายังไม่เคยแม้แต่จะเคยเห็นเครื่องบิน แต่ก็กลับฝันไปว่าตัวเองบินได้.


เสินโจว 6' ท้าทายประวัติศาสตร์การบินของจีน

วันประวัติศาสตร์ : 'เสินโจว 6' ทะยานขึ้นสู่ห้วงอวกาศเช้าวันที่ 12 ตุลาคม 2005 เวลา 9:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 8:00 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยมีนักบินเฟ่ยจวิ้นหลง และเนี่ยไห่เซิ่ง ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่บนอวกาศเป็นเวลา 5 วัน


ภาพจำลองการร่อนลงของแคปซูล


สภาพของแคปซูลกลับสู่พื้นโลกเสินโจว 6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ