ประเทศไทย
ประเทศไทย หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ราชอาณาจักรไทย เป็นรัฐที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพรมแดนทางทิศตะวันออกติดกับประเทศลาวและประเทศกัมพูชา ทิศใต้ติดกับอ่าวไทยและประเทศมาเลเซีย ทิศตะวันตกติดกับทะเลอันดามันและประเทศพม่า และทิศเหนือติดกับประเทศพม่าและประเทศลาว มีแม่น้ำโขงกั้นเป็นบางช่วง โดยมีศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทั้งเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
ในด้านภูมิศาสตร์และประชากรศาสตร์ ประเทศไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 50 ของโลก มีเนื้อที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรมากเป็นอันดับ 21 ของโลก ประมาณ 64 ล้านคน ประกอบด้วยเชื้อสายไทยประมาณร้อยละ 75 ชาวจีนร้อยละ 14 ชาวมาเลย์ร้อยละ 3 ได้มีการประมาณกันว่ามีผู้อพยพทั้งถูกและผิดกฎหมายในประเทศไทยประมาณ 2.2 ล้านคน
ในด้านวัฒนธรรม ประเทศไทยมีภาษาราชการคือภาษาไทย ขณะที่ท้องถิ่นต่าง ๆ มีภาษาถิ่นเป็นหลากหลายภาษา อาทิ ภาษาถิ่นพายัพในภาคเหนือ ภาษาถิ่นอีสานในภาคอีสาน และภาษาถิ่นปักษ์ใต้ในภาคใต้ พลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาทกว่าร้อยละ 95 โดยวัฒนธรรมหลักของไทยได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย ประเทศจีน และประเทศทางตะวันตกประสมประสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น
ในด้านการปกครอง ประเทศไทยมีรูปแบบประเทศเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และรูปแบบการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันบัญญัติโดยรวมทั้งรูปแบบประเทศและรูปแบบการปกครองว่า ประเทศไทยมีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลปัจจุบันคือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี และพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐที่นานที่สุดในโลกด้วย
ประวัติศาสตร์
ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในอดีต พื้นที่ซึ่งเป็นประเทศไทยในปัจจุบันได้มีมนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่ยุคหินเก่าเป็นต้นมา และภายหลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิขะแมร์ เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ทำให้มีรัฐเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในเวลาไม่นานนัก โดยตามตำนานโยนกได้บันทึกไว้ว่า มีการก่อตั้งอาณาจักรของคนไทยขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ. 1400
นักประวัติศาสตร์ไทยเริ่มถือเอาสมัยอาณาจักรสุโขทัย นับตั้งแต่ พ.ศ. 1781 เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ชาติไทย ซึ่งตรงกับสมัยรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา และอาณาจักรล้านช้าง จนกระทั่งอาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจลงในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 19 และศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองได้ย้ายไปยังอาณาจักรทางใต้ คือ กรุงศรีอยุธยาแทน โดยความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรอยุธยาสังเกตได้จากการทำการค้าขายกับรัฐ เพื่อนบ้านหลายรัฐ เช่น จีน อินเดีย เปอร์เซียและชาวอาหรับ ไปจนถึงพ่อค้าชาวยุโรปหลายชาติ เช่น โปรตุเกส ฝรั่งเศส ดัตช์ และอังกฤษ
ครั้นเมื่อถึงคราวเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งที่สอง ใน พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้ทรงย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงธนบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของคนไทยเป็นเวลานาน 15 ปี ต่อมา เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ได้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้น โดยมีกรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงของประเทศ
ถึงแม้ว่าจะถูกกดดันอย่างหนักจากชาติ มหาอำนาจ แต่อาณาจักรสยามก็สามารถธำรงตนโดยเป็นรัฐเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตกเลย แต่สยามก็ต้องรับอิทธิพลจากประเทศตะวันตกเข้าสู่ประเทศอย่างมาก จนกระทั่งนำไปสู่การปฏิรูปทางสังคมและวัฒนธรรมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด ได้แก่ การสูญเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษ และดำรงบทบาทของตนเป็นรัฐกันชนระหว่างประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งสอง รวมไปถึงการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเสียเปรียบอีกจำนวนหนึ่ง
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยได้ลงนามเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น และประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร แต่เนื่องจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรให้การยอมรับในขบวนการเสรีไทย ประเทศไทยจึงรอดพ้นจากสถานะประเทศผู้แพ้สงคราม และภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา ในช่วงสงครามเย็น
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนแรกเป็นผลมาจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2516 ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นเวลาแล้ว 41 ปี ซึ่งในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยประสบกับความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และได้มีการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารผ่านการก่อรัฐประหารหลายสิบครั้ง อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นมีเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยครั้งสำคัญอีกสองครั้ง ได้แก่ เหตุการณ์ 14 ตุลา และ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยล่าสุดได้เกิดการก่อรัฐประหารขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการ หลังจากได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
ชื่อประเทศไทย
คำว่า "สยาม" เป็นคำที่ชาวต่างประเทศใช้เรียกอาณาจักรอยุธยา เมื่อราว พ.ศ. 2000 เดิมทีประเทศไทยเองก็เคยใช้ชื่อว่า สยาม มานับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น ต้นมา แต่ทว่าคนไทยไม่เคยเรียกตนเองว่า "สยาม" หรือ "ชาวสยาม" อย่างชาวต่างชาติหรือตามชื่อประเทศอย่างเป็นทางการในสมัยนั้นเลยส่วนคำว่า "คนไทย" นั้น จดหมายเหตุลาลูแบร์ได้บันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า ชาวอยุธยาได้เรียกตนเองเช่นนั้นมานานแล้ว
ต่อมา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ตามประกาศรัฐนิยม ฉบับที่ 1 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนชื่อประเทศ พร้อมกับเรียกประชาชน และสัญชาติจาก "สยาม" มาเป็น "ไทย" ซึ่งมีความหมายในภาษาไทยว่า ความมีอิสระในตัว ความไม่เป็นทาส โดยในช่วงต่อมาได้เปลี่ยนกลับเป็นสยามเมื่อปี พ.ศ. 2488 ในช่วงการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุดได้เปลี่ยนกลับมาชื่อไทยอีกครั้งในปี พ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นช่วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยต่อมา ช่วงแรกเปลี่ยนเฉพาะชื่อภาษาไทยเท่านั้น ชื่อในภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษคงยังเป็น "Siam" อยู่จนกระทั่งเดือนเมษายน พ.ศ. 2491 จึงได้เปลี่ยนชื่อภาษาฝรั่งเศสเป็น "Thaïlande" และภาษาอังกฤษเป็น "Thailand" อย่างในปัจจุบันอย่างไรก็ตาม ชื่อ สยาม ยังคงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ
การปกครอง
เดิมประเทศไทยมีการปกครองแบบระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาเป็นต้นมา แต่การปกครองในลักษณะรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางแบบเด็ดขาดนั้นเริ่มตั้งแต่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนกระทั่งวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้กระทำการปฏิวัติในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยเป็นสามส่วนคือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
ปัจจุบัน ประเทศไทยดำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 แห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งกำหนดรูปแบบองค์กรบริหารอำนาจทั้งสามส่วนดังนี้
- อำนาจนิติบัญญัติ มีรัฐสภา ซึ่งมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง และมาจากการสรรหาอีกส่วนหนึ่ง เป็นองค์กรบริหารอำนาจ
- อำนาจบริหาร มีนายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ ตามคำกราบบังคมทูลของประธานรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีซึ่งพระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งตามคำกราบบังคมทูลของนายกรัฐมนตรี เป็นองค์กรบริหารอำนาจ
- อำนาจตุลาการ มีศาล ซึ่งประกอบด้วยศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง ซึ่งมาจากการคัดสรร เป็นองค์กรบริหารอำนาจ
Credit : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
อารายเหรอ