วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เพะชะคุชะ ไนท์

เพะชะคุชะ ไนท์



เขียนโดย – กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
จาก น.ส.พ.ผู้จัดการรายวัน 7 พฤศจิกายน 2549








อะไรนะ? 'เพะชะคุชะ ไนท์'


เพะชะคุชะ ไนท์ เป็นงานนำเข้าใหม่ถอดด้ามจากญี่ปุ่น คำว่า 'Pecha Kucha' เป็นคำจำลองเสียงเมาท์แตกของสาวญี่ปุ่น เป็นอารมณ์ของการพูดคุยแบบเป็นกันเอง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของงานเพะชะคุชะ ที่อยากจะให้ผู้ร่วมงานจากหลากหลายวงการ มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกระฉูด แบบเป็นกันเอง ไม่มีการแบ่งรุ่นหรืออาชีพ


งานนี้เกิดจากความคิดของ Astrid Klein และ Mark Dytham สถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัท Klein Dytham Architects (KDa) ในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ด้วยความเชื่อที่ว่า ความคิดสร้างสรรค์ของคนเราจะเติบโตได้จริงก็ต่อเมื่อ ได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ อย่างเปิดกว้าง



งานนี้จึงเน้นการเปิดพื้นที่ให้คนทำงานสร้างสรรค์ จากหลายแขนง ได้นำไอเดียมาปลดปล่อย พร้อมกับเรียนรู้ไอเดียของคนอื่นไปด้วย



แม้ เพะชะคุชะ ไนท์ จะมีอายุได้แค่ 3 ปี แต่ก็เป็น 3 ปีที่ฮิตติดลมบน โดยในโตเกียว ต้นตำรับของเพะชะคุชะ ไนท์นั้น จัดไปแล้วถึง 36 ครั้ง หรือเฉลี่ยคือจัดทุกเดือน และขณะนี้ส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก



เพะชะคุชะ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น





กล่าว กันว่าเจ้างานชื่อแปลกๆ นี่ ถูกจัดขึ้นมาแล้วเกือบ 30 เมืองทั่วโลก เช่น เฮลซิงกิ-ฟินแลนด์, นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก และลอสแองเจลิส-สหรัฐอเมริกา และปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้-จีน เป็นต้น



เพะชะคุชะ ที่กรุงกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์




เพะชะคุชะ ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี






เพะชะคุชะ ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก




เพ ชะคุชะครั้งอลังการที่สุด (นับถึงตอนนี้) คือครั้งพิเศษในเทศกาลโฆษณาที่เมืองคานส์ หนล่าสุด ซึ่งเหล่าผู้บริหารบริษัทโฆษณาชั้นนำของโลกชวนกันขึ้นเวทีกว่า 10 ชีวิต เพื่อบอกเล่าไอเดียของตนแก่คนรุ่นใหม่ และเพะชะคุชะ ไนท์ ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก (นับถึงตอนนี้) คือครั้งที่ 7 ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน



เพะชะคุชะ ที่เมืองคานน์




เพะชะคุชะ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ




เพะชะคุชะ ที่กรุงบัวโนส ไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา






แล้ว ก็มาถึงทีของเมืองไทย เมื่อนิตยสาร Bioscope และบริษัท try2benice ต้องการเชิญ 'ความคิดสร้างสรรค์' ลงมาจากหิ้งความรู้สึกของคนไทย จึงติดต่อประสานงานไปที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อขอจัดงาน เพะชะคุชะ ไนท์ ขึ้นในบางกอก






สุรัตน์ โตมรศักดิ์ (ซ้าย) และสุภาพ หริมเทพาธิป (ขวา)





สุรัตน์ โตมรศักดิ์ Design Director บริษัท try2benice กล่าวว่า

"งานมันเกิดจากความง่ายเป็นหลัก ไม่ใช่การพรีเซ็นต์หรือการสัมมนา แต่เกิดจากการที่เพื่อนฝูงมาคุยกันว่า ฉันคิดอะไร ดังนั้น หัวใจของเพะชะคุชะ คือ ความเป็นกันเอง และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ตัวไอเดีย ไม่ใช่วิธีการนำเสนอ ไม่ใช่หน้าตาของคนนำเสนอ ใครก็ได้ล้วนมีสิทธิ์นำเอาความคิดของตัวเองมาให้คนอื่นดู มาแชร์กัน"



สุภาพ หริมเทพาธิป บรรณาธิการนิตยสาร Bioscope เล่าว่า

“การ ติดต่อขอจัดงานมันง่ายกว่าที่คิดไว้มาก ถึงขนาดสงสัยว่าทำไมง่ายขนาดนี้ แค่ติดต่อไปทางอีเมล์ว่า อยากจะจัดในกรุงเทพฯ ทางประเทศญี่ปุ่นก็ตอบกลับมา ฝ่ายนี้ก็เซ็นชื่อแล้วส่งกลับไป ทุกอย่างก็เรียบร้อย”



มาเหอะ! ไม่ต้องกลัว

"ความ คิดสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เกิดมาก็มีกันทุกคน แล้วคนไทยก็มีเยอะด้วย ภูมิปัญญาชาวบ้านนี่โคตรสร้างสรรค์เลย แม่ค้าในตลาดนำเอาคาราโอเกะมาเปิดแล้วขายดี ผมก็ว่านี่คือความคิดสร้างสรรค์ เพียงแต่ว่าสังคมเราไม่ได้ดูแลให้ชัดเจน ความคิดสร้างสรรค์จึงถูกพูดถึงในหมู่ของคนที่ทำงานด้านนี้เท่านั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วมันมีอยู่ทั่วไป เพะชะคุชะเป็นแค่พื้นที่ให้คนเหล่านี้ได้เดินเข้ามาอย่างเป็นกันเอง"


ความ กริ่งเกรงที่ว่าคนจะไม่กล้ามา ทำให้การคิดงานในช่วงแรก ผู้จัดต้องการจัดในบรรยากาศแบบหนังกลางแปลง แต่ติดปัญหาเรื่องสถานที่และดินฟ้าอากาศ



สุภาพ บรรณาธิการนิตยสาร Bioscope เล่าว่า

"ใน ตอนแรกที่เราคิดกันไว้คือ อยากจะทำให้งานครั้งนี้มีอารมณ์เหมือนหนังกลางแปลง เพราะหนังกลางแปลงใครเดินเข้าไป ก็ดูได้หมด สมมติเราจัดตรงลานรัชดาฯ คนขับรถผ่านมา เฮ้ย! งานอะไรวะ จอดดูหน่อยสิ คืออยากได้อย่างนั้น แต่เราก็กลัวฝน จึงต้องหาสถานที่ที่โอเคหน่อย พอคุยกับเฮาส์แล้ว(โรงภาพยนตร์เฮ้าส์) เขาก็ตกลง เราจึงไปจัดกับเขา เพราะอย่างน้อยโรงหนัง เราก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่เปิด"



อย่าเก็บความคิดสร้างสรรค์ไว้บนหิ้ง

"เรา เชื่อว่าศิลปะหรือความคิดสร้างสรรค์ มันไม่ได้อยู่นิ่ง เราคุยกับใครสักคนหนึ่ง เราอาจจะเกิดแรงบันดาลใจเพื่อจะทำอะไรต่อไปอีก ต่อยอดกันไป คน 20 คน ที่นำเสนอความคิดตัวเองออกไป คงจะมีสักคนแหละ ที่จะสามารถกระตุ้นความคิดเรา ผมค่อนข้างชอบความหลากหลายตรงนี้และคิดว่า นี่เป็นเสน่ห์ของเพะชะคุชะ"


การจัดงานครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้คนที่มาร่วมงานเกิดแรงบันดาลใจ เกิดการแลกเปลี่ยน และสร้างสรรค์ความคิดของตัวเองออกมา


ขณะที่สุรัตน์ Design Director บริษัท try2benice กล่าวว่า

"เรา คาดหวังว่า ครั้งแรกนี้จะมีคนให้ความสนใจพอประมาณ หวังว่าคนที่มาในงานจะไปบอกต่อเพื่อนๆ ว่าเพะชะคุชะ คืออะไร ให้มันระบาดออกไปในสังคม เราไม่อยากให้มันระบาดอยู่แค่ในแวดวงศิลปะ หรือพวกที่ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ เราอยากให้ระบาดไปในทุกอาชีพ เพราะในต่างประเทศ งานเพะชะคุชะ มีหมอ มีทนาย ขึ้นนำเสนอด้วย เขามีความคิดอะไรแปลกๆ หรือกระทั่งมีชาวบ้านไปถ่าย 20 วิธีการรอคอยเวลาซ่อมโทรศัพท์ เขาไม่ได้เรียนศิลปะเลย แต่เขามีมุมมอง มีความคิดที่น่าสนใจ"



เป็นมุมมองเดียวกับสุภาพ ที่เชื่อว่า ความคิดสร้างสรรค์มีอยู่ทุกซอกหลืบ ชาวบ้านตามชนบทก็มีความคิดสร้างสรรค์ได้


"สำหรับ ชาวบ้าน ความคิดสร้างสรรค์มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกเอาไปวางไว้เฉยๆ แต่เป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ถูกดึงเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน อยู่ๆ วันหนึ่งก็มีเครื่องปั๊มน้ำที่ส่งมาจากประเทศอื่น ให้เรามาใช้ปั๊มน้ำ แต่ชาวบ้านเห็นว่า เอ๊ะ! มันหมุนๆ ได้ ถ้าเอาไปต่อล้อ มันก็น่าจะวิ่งได้สิ มันก็เป็นที่มาของ รถอีแต๋น นี่คือความคิดสร้างสรรค์"


พวก เขาทั้งสอง จึงอยากเชื้อเชิญทุกท่านไปร่วมแจม เพะชะคุชุ ไนท์ บางกอก ครั้งนี้กันให้เนืองแน่น เพื่อไปร่วมกันเชิญความคิดสร้างสรรค์ลงมาจากหิ้งกันเสียที




ป.ล. เนื่องจากงานนี้ไม่มีสปอนเซอร์แม้แต่รายเดียว มีแค่พันธมิตรร่วมจัดกันพอหอมปากหอมคอ ทั้งสุรัตน์และสุภาพจึงขอบอกกล่าวไปถึงผู้ที่คิดจะไปร่วมงาน ถ้าไม่เป็นการเบียดเบียนกันจนเกินไปนัก และอยากร่วมแจมในบรรยากาศสบายๆ ช่วยนำเครื่องดื่มและอาหารติดไม้ติดมือไปตามกำลังศรัทธา



คนปล่อยของ


3 คนต่อไปนี้ คือตัวอย่างคร่าวๆ ของคนมีของที่จะไปปล่อยใน เพะชะคุชะ ไนท์ บางกอก ที่จะจัดขึ้นในค่ำคืนวันที่ 18 พฤศจิกายน



พงศ์ธร วชิรโภคา (ซ้าย) คันถ์ชิต วณิชดิลกกุล (กลาง) และปวลี จิระกรานนท์ (ขวา)





คันถ์ชิต วณิชดิลกกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวหอม เทเลวิชั่น และคอลัมนิสต์

"หัว ข้อที่ผมคิดไว้คือสิ่งประดิษฐ์ต่อเติม เหมือนกับเอาอีกอย่างมาบวกอีกอย่าง มันเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่า ทำไมไม่มีคนทำ ทั้งที่มันอยู่ในชีวิตประจำวัน สมมติว่าผมขับรถอยู่แล้วเปิดเพลง รู้สึกว่ามันสนุกมากเลย อยากจะมีกลองในรถ ผมก็นึกว่า ทำไมไม่มีใครคิดพวงมาลัยเพอร์คัสชั่นออกมา ผมจึงคิดดีไซน์ตรงนี้ขึ้น ....หรืออย่างม้าหมุนประณามนักการเมือง ม้าหมุนเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเด็ก แต่ผมอยากให้เด็กได้เรียนรู้ความชั่วร้ายของนักการเมืองบ้าง ด้วยการเปลี่ยนรูปทรงม้าหมุนเป็นตัวนักการเมือง และสามารถฟังเสียงประวัติของนักการเมืองคนนั้นได้ด้วยว่า คนคนนี้เคยทำความชั่วร้ายอะไรมาบ้าง"



ปวลี จิระกรานนท์ นักศึกษาปี 3 นิเทศน์ศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

"จะ เสนอซีดีเพื่อเกษตรกร เป็นการบ้านตอนอยู่ปี 2 อาจารย์ให้ทำซีดี 3 แผ่นเป็น 1 ชุด เป็นซีดีอะไรก็ได้ พอดีตอนนั้นเคยได้ยินว่า วัวที่ประเทศอะไรก็ไม่รู้ฟังเพลงแล้ว ทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น เราก็เลยคิดว่าจะทำเป็นซีดีเพื่อเกษตรกร ให้วัว ให้ไก่ ให้ต้นไม้ฟัง จะได้ให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ส่วนสิ่งที่อยู่ในซีดี เป็นเพลงที่เหมาะสำหรับ วัว ไก่ และต้นไม้ฟัง บังเอิญไปได้ข้อมูลมาอีกว่า ต้นไม้ชอบฟังเพลงเฮฟวี่ เมทัล ไก่ต้องเป็นเพลงคลาสสิก ส่วนวัวต้องเป็นเพลงวอลซ์ ส่วนตัวแพ็คเกจ เราก็มานั่งคิดว่า มันเป็นเพลงคลาสสิก เป็นเฮฟวี่ เมทัล แล้วยังเพื่อเกษตรกรอีก รู้สึกว่ามันต่างกันมาก ต้องจับมาอยู่ในแพ็คเกจเดียวกัน ก็เลยทดลองทำไปเรื่อยๆ ก็ตกลงว่าซองใส่ซีดี จะทำจากถุงปุ๋ยแล้วกัน ไปตัดถุงปุ๋ยมาเย็บ การใช้สีสันก็ทำให้ดูคลาสสิกหน่อย หรือทำให้ดูเป็นเฮฟวี่ เมทัลด้วย"



พงศ์ธร วชิรโภคา Graphic Designer บริษัท try2benice

"มัน เป็นโปรเจกต์ของผม ตอนเรียนจบ ชื่อโครงการว่า 'การบริโภคบนสังคมบริโภคนิยม' ผมจึงเริ่มจากตัวผมเอง โดยสังเกตพฤติกรรมการใช้เงินแต่ละวันว่า หมดไปกับอะไรบ้าง เริ่มจดบันทึกเป็นไดอารี่ เราใช้คุ้มหรือเปล่า แล้วก็เอาข้อมูลดิบ 1 เดือน มาแปลงเป็นบุ๊คดีไซน์ว่า 30 วัน ผมใช้เงินไปเท่าไหร่ แล้วเรามีวิธีที่จะใช้เงินได้ถูกกับแพงได้ยังไง เพื่อให้เห็นว่าเรามีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้จ่ายเงิน แล้วยังมีเสื้อยืดทำเป็นแพงกับถูก สกรีนตัวใหญ่ๆ บนเสื้อว่า Expensive กับ Cheap ถ่ายเป็นมีเดียว่า 1 วันไปสยามใช้เงินร้อยบาท คือ Cheap แล้วอีก 1 วันใช้เงินหนึ่งพันบาทที่สยาม ก็คือ Expensive เหมือนกับสะท้อนให้เห็นความแตกต่างระหว่างวันที่หนึ่งกับวันที่สอง และจบท้ายด้วยการทำเสื้อยืดตัวละร้อยบาทกับตัวละพันบาท เพื่อกำลังจะบอกว่า คนเรามีทางเลือกในการใช้ชีวิต"




กติกา ท่าบังคับ


ไม่ ว่าจะทำอะไร ก็ต้องมีกติกาเสมอ ต่อให้เป็นงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ฟุ้งกระจายแค่ไหน ก็ยังต้องมีกติกา เพื่อให้งานเดินไปอย่างราบรื่น เพะชะคุชะไนท์ จึงมีกติกามาตรฐานสากลภายใต้แนวคิด 20x20


- งานจะจัดอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง โดยแต่ละครั้งจะมีผู้ที่ขึ้นไปเสนอไอเดียของตนบนเวที จำนวน 20 คน


- การเสนอไอเดียบนเวที จะเริ่มต้นในเวลา 20.20 น.


- ผู้ที่ขึ้นเวทีทั้ง 20 คน แต่ละคนจะเล่าไอเดียของตน ผ่านภาพนิ่งจำนวน 20 ภาพ และแต่ละภาพจะปรากฏบนจอนนาน 20 วินาที (หรือเป็นภาพเคลื่อนไหวชุดเดียวก็ได้ แต่รวมเวลาแล้วใกล้เคียงกัน)







- สิริรวมแล้ว ทุกคนจะมีเวลายืนและนำเสนออยู่บนเวทีนาน 6 นาที 40 วินาที เมื่อจบแล้วคนถัดไปจะขึ้นไปเล่าผลงานของตนต่อทันที


- ส่วนผู้ชมสามารถจับจองที่ยืน ที่นั่ง ที่นอน ได้ตามสบายเพื่อรับชม รับฟังสิ่งที่อยู่บนเวที


- เมื่อจบช่วงนำเสนอบนเวทีแล้ว จะเป็นช่วงเวลาอิสระ ที่ทุกคนสามารถพูดคุยกับใครก็ได้ตามความพอใจ ในบรรยากาศปาร์ตี้แบบเป็นกันเอง



- หลังจากวันงาน ชื่อ ภาพตัวอย่างผลงาน และภาพบรรยากาศการเล่าไอเดีย ของทั้ง 20 คน จะถูกนำขึ้นเว็บ http://www.pechakuchabangkok.com และ http://www.pecha-kucha.org ซึ่งเป็นเว็บทางการ ที่รวมความเคลื่อนไหวของ งานเพะชะคุชะทั่วโลก




เพะชะคุชะ ไนท์ บางกอก จะจัดขึ้นในค่ำคืนวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายนนี้ ที่โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ ละแวก อาร์ซีเอ งานเริ่มตั้งแต่ 1 ทุ่มตรงเป็นต้นไป ผู้สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ 0-2541-5318 ต่อ 11 หรือดูรายละเอียดที่www.pechakuchabangkok.com





หมายเหตุ จากจขบ.


ที่ จขบ.นำข่าวเรื่องนี้มาเสนอ เพราะคนในพันทิปมีหลากหลายสาขาอาชีพ ที่สำคัญมีหลากหลายความคิดสร้างสรรค์มาก .....ในโอกาสครบรอบ 10 ปีพันทิป ซึ่งจะมีการจัดงานใหญ่ “งานพันทิป 10 ปี” ณ.ห้องราชพฤกษ์ สโมสรราชพฤกษ์ ในวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2549 เวลา 12.00น.-17.00 น.กดที่นี่ จึงน่าจะมีคนนำความคิดสร้างสรรค์ที่ตนเองมี มาเสนอให้เพื่อนๆฟังบนเวที ....แล้วให้โอกาสเพื่อนๆ เสนอไอเดียต่อยอดความคิดนั้นๆ ซึ่งความคิดบางอย่างอาจจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นได้จริง จากการร่วมคิดและเห็นการนำเสนอเป็นรูปธรรม ....เป็นแนวทางหนึ่งที่เพิ่มขึ้น...จากการที่เคยแต่โพสต์ในเว๊บพันทิป......






โดย yyswim

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ