วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒

วิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒


ภาพวาดเหตุการณ์ รศ 112
(ภาพจากเวปไซต์ http://www.flickr.com/photos/21014075@N05/2734336311/)

"วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒" เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ในอดีตที่สร้างความเศร้าโศก เสียพระราชหฤทัยให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ไม่เป็นอันเสวยหรือบรรทมจนประชวรหนัก เพราะเหตุทรงเจ็บช้ำพระราชหฤทัย ขมขื่นและระทมทุกข์ จากชาิติฝรั่งเศสที่เข้ามารุกรานแผ่นดินสยาม จนท้อพระทัยว่า พระนามของพระองค์จะถูกลูกหลานในอนาคตติฉินนินทาไม่รู้จบสิ้น เปรียบเสมือนสองกษัตริย์ "ทวิราช" ที่สูญเสียเศวตฉัตรแห่งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาให้กับอังวะในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ และเป็นที่ทราบกันดีว่าวิฤติการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ในครั้งนี้ ได้เป็นจุดเริ่มแห่งความเจ็บช้ำในพระทัยต่อพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์และ ทรงจดจำมิลืมเลือน จึงทรงสักยันต์ ตราด ร.ศ.๑๑๒ ไว้ตรงพระอุระของพระองค์ เพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงความเจ็บช้ำที่เกิดจากเหตุการณ์ในกาลนั้น

"วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒" เกิดขึ้นในปีมะเส็ง เดือน กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖(ร.ศ.๑๑๒) หกเดือนหลังจากพระราชพิธีโสกันต์ของพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์

ได้เกิด " วิกฤติการณ์ปากน้ำ" " กรณี ร.ศ.๑๑๒" เริ่มต้นขึ้นเมื่อ จักรวรรดินิยมฝรั่งเศส ได้ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองอินโดจีน อันประกอบด้วย โคชิน ตังเกี๋ย อันนัม กัมพูชา และบางส่วนของลาวมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๔

ต่อมาฝรั่งเศสก็อ้างว่าดินแดนของลาวเคยเป็นสิทธิของเวียดนาม (เจ้าอนุวงศ์เคยทำสัญญายกเมืองลาวให้เวียดนามเพื่อขอลี้ภัยการเมือง ในคราวที่เจ้าอนุวงศ์ก่อกบฏในสมัยรัชกาลที่ ๓) และในเมื่อเวียดนามเป็นดินแดนในคุ้มครองของฝรั่งเศสแล้ว จึงสมควรที่แผ่นดินลาวต้องเข้ามาอยู่ในการดูแลของฝรั่งเศสด้วย

รัฐบาลสยามจึงได้ส่ง พลตรีพระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าน้องยาเธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม (พระองค์เจ้าชายทองก้อนทองใหญ่) ให้ขึ้นไปตั้งกองบัญชาการลาวพวน อยู่ที่เมืองหนองคาย เพื่อป้องกันการรุกรานของฝรั่งเศส

๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ร.ศ.๑๑๒ มองซิเอร์ลุซ ชาวฝรั่งเศส คุมทหารญวนในสังกัดฝรั่งเศสเข้าปล้นค่ายยึดเมืองคำมวน เมืองหน้าด่าน ราชอาณาเขตสยาม โดยมี พระยอดเมืองขวาง เป็นข้าหลวงรักษาเมือง ฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองคำมวน และจับ พระยอดเมืองขวาง และพวกเอาไว้ แต่มีทหารเข้ามาช่วย พระยอดเมืองขวางและพวกเอาไว้ และได้ฆ่าทหารฝรั่งเศส เหลือรอดกลับไปเพียง ๓ คน (บางแหล่งระบุว่า มิไ้ด้ต่อสู้ขัดขวาง เพราะเกรงกระทบไมตรีระหว่าง สยามกับฝรั่งเศส)

รัฐบาลสยามได้พยายามประท้วงไปทางฝรั่งเศส แต่ก็ไม่เป็นผล ฝรั่งเศสยืนกรานว่าเมืองคำมวนเป็นของฝรั่งเศส และพระยอดเมืองขวาง คือผู้บุกรุก โดยพระยอดเมืองขวาง พร้อมทหารและอาวุธครบมือ บุกเข้าไปในเขตยึดครองของฝรั่งเศส การที่จับพระยอดเมืองขวาง นั้นชอบแล้ว มองซิเออร์ ออกุสต์ ปาวี ยื่นประท้วงโดย "ให้ลงโทษพระยอดเมืองขวางสถานหนักและให้สยามประเทศจ่ายค่าทำขวัญให้แก่ครอบ ครัวทหารฝรั่งเศส ญวนและเขมรที่ถูกฆ่าตาย" เหตุการณ์ครั้งนี้ได้นำไปสู่คดีประวัติศาสตร์ "คดีพระยอดเมืองขวาง" และ "วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒" ในเวลาต่อมา
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๖ ทหารญวน เขมรในสังกัดของฝรั่งเศส ก็ได้ยกเข้ามาประชิดฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และส่งเรือปืนลูแตงล่องปากเจ้าพระยาเข้ามายังพระนคร โดยอ้างว่า เป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของฝรั่งเศสที่มีอยู่ในสยาม (ตอนนั้นมีชาวฝรั่งเศสอยู่ในสยามเพียง ๓ คน และไม่มีกิจการค้าใดๆ อันเป็นผลประโยชน์ตามที่กล่าวอ้าง)



พระราชพิธีมหามงคลการโสกันต์


พระราชพิธีโสกันต์

การพระราชพิธีมหามงคล การโสกันต์ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์

"ราชกิจจานุเบกษา กรุงเทพมหานครในพระบรมมหาราชวัง เล่ม ๙ แผ่นที่ ๔๑ วันที่ ๘ มกราคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๑ น่า ๓๕๙ "


ด้วยพระชนม์พรรษายุกาล พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ ดำรงมาโดยศิริศุขวัฒนา ประจวบคำรบ ๑๓ พรรษา ณะปีนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์ อย่างพระเจ้าลูกเธอ ตามโบราณขัติยราชประเพณี ต่อเนื่องจากการพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เพราะฉะนั้นการตั้งแต่ง ณ สถานที่ต่างๆ ย่อมได้มีพร้อมอยู่แต่งานก่อน ดังได้กล่าวมาในราชกิจจานุเบกษา แผ่นที่ ๔๐ นั้นแล้ว ในข่าวนี้จะขอกล่าว แต่ส่วนการที่ได้เปลี่ยนแปลงเท่านั้น คือ ยกการสวดมนต์บนเขาไกรลาศ แลการเล่นสำหรับเขาไกรลาศ พระสงฆ์ไม่ได้สวดพระพุทธมนต์ ตั้งน้ำวงท้ายไม่ได้สวดภาณวาร ย้ายพระเต้าเบ็ญจครรภมาเข้าพระแท่นมณฑล แลตั้งพานเครื่องราชอิศริยากรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ซี่งจะได้พระราชานพระเจ้าลูกเธอที่จะโสกันต์ เข้าพิธีในพระแท่นมณฑลด้วย เครื่องนมัสการลงยาราชาวะดีน่าพระแท่นมณฑล เปลี่ยนเปนเครื่องทองใหญ่ เครื่องนมัสการในพระฉาก สำหรับพระเจ้าลูกเธอทรงฟังสวด คงเครื่องทองน้อยตามเดิม

ส่วนการนุ่งห่มแต่งตัวในงานนี้ พระบรมวงษานุวงษ์ทรงพระภูษาม่วง ฉลองพระองค์เยี่ยรบับ ข้าราชการพลเรือน นุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน สรวมเสื้อเยี่ยรบับ ข้าราชการฝ่ายทหาร แต่งเต็มยศอย่างทหารประดับเครื่องราชอิศริยาภรณ์ ตามที่ได้รับพระราชทาน

วันที่ ๑ มกราคม รัตนโกสินทร์ ศก ๑๑๑ พระสงฆ์พระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย รวม ๓๐ รูป มีพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เปนประธาน ได้มาพร้อมอยู่ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ครั้งเวลาเกือบ ๔ ทุ่ม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ทรงจุดเทียนนมัสการแลเทียนในแท่นมณฑล แลเทียนที่โต๊ะหยก ๒ ข้าง แล้วโปรดให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ ทรงประเคนไตรผ้าสลับแพรแก่พระสงฆ์ ๓๐ รูป พระสงฆ์ถวายอติเรกแลถวายพระพรลากลับไปแล้ว เสด็จลงประทับปรำที่ชาลา น่ามุขพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทอดพระเนตรกอมมิตตีตัดสินต้นไม้เทียบชั้นรางวัลต่อไป จนเวลา ๓ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น

โปรดให้กระบวนแห่เข้ามาแล้ว ทรงส่งพระกรพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ ลงสู่พระราชยานกง ยาตรากระบวนออกทางประตูราชสำราญ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ทรงพระราชยานถมพร้อมด้วยกระบวนตำรวจ ทหารมหาดเล็ก แห่นำตามเสด็จ ไปประทับพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ส่วนกระบวนแห่ก็เดินมาตามราชวิถีอันปูลาดด้วยเสื่อ ในระหว่างทางที่รายด้วยราชวัตรฉัตรเบ็ญจรงค์ มาเข้าประตูพิมานไชยศรี กระบวนหน้าไปหยุดยืนอยู่ตามเคย ครั้นราชยานกงเทียบเกย พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับพระกร พระเจ้าลูกเธอ ขึ้นจากพระราชยานกง ส่งท่านข้างในรับเชิญเสด็จไป ประทับ ณ ที่ฟังสวดในพระฉาก บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับทรงทอดพระเนตรกระบวนแห่ จนสุดกระบวนแล้ว เสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดเทียนนมัสการ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ซึ่งเปนประธานสงฆ์ถวายศีลแล้ว พระสงฆ์ ๓๐ รูปเจริญพระพุทธมนต์สัตตปริต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนในพระแท่นมณฑลแลเทียนที่โต๊ะหยก สองข้างพระแท่นมณฑลแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ แก่ข้าราชการ ตามที่จะได้ลงนามผู้ที่ได้รับพระราชทาน แลนามตรามาแผนกหนึ่งต่างหาก ในท้ายข่าวนี้ ครั้นพระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว ถวายอติเรก ถวายพระพรลา แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับทรงส่งพระกร พระเจ้าลูกยาเธอ ณ พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท พระสงฆ์สวดถวายไชยมงคล บนพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ส่งกระบวนแห่กลับออกประตูพิมานไชยศรีไปโดยทางเดิมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชยานเสด็จกลับ ขึ้นทางพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท เสด็จไปรับพระกร พระเจ้าลูกเธอ ณ พระที่นั่งสุทธาสีอภิรมย์

กระบวนแห่ที่มีในงานหลังนี้ คือ แตรวงพลทหารกองหน้า มหาดไทย กระลาโหม นำริ้ว กลองแขก ปี่ชวา มหาดเล็กเทวะดาคู่แห่ มหาดเล็กหุ้มแพรต้นเชือก เด็กญวน เด็กจีน เด็กแขกมลายู เด็กคู่แห่ศีศะจุก มีสารวัดกำกับด้วย เปนระยะๆ จนตลอดแล้วถึงกลองชนะ จ่าปี จ่ากลอง สังข์ แตรงอน แตรฝรั่ง เครื่องสูงหน้า มีบังแซกคั่นมหาดเล็ก เชิญพระแสงหว่างเครื่อง โหรโปรยเข้าเปลือก เข้าสาร ภูษามาลาแกว่งบััณเฑาะว์ พราหมณ์ถือสังข์ พรหมณ์โปรยเข้าตอกดอกไม้ นายเวรชาวังคุมเครื่อง สนมพลเรือนสำหรับเปนพี่เลี้ยงเด็กเชิญนกการเวก จ่าโชนเชิดประทีปในพนักงานตีกรับ แล้วถึงเด็กเชิญนกการเวก คือ นายโต บุตรพระยาราชพงษานุรักษ์ นายกลาง บุตรพระศรีทิพย์โภชน์ ต่อมานางเชิญ มยุรฉัตร นางเิชิญ พุ่มไม้ ทอง เิงิน แล้วพระราชยานกง พระเจ้าลูกเธอ มีพระกลดปักเลื่อม บังพระสูริย์ พัดโบก มหาดเล็กแต่งเปนอินทร์พรหม เชิญจ่ามร แลมีคู่เคียง ๖ คู่ คือ พระยามณเฑียรบาล พระยาเกษตรรักษาคู่ที่ ๑ พระยาเจริญราชไมตรี พระยาเพ็ชร์ปาณีคู่ที่ ๒ พระยานรานุกิจมนตรี พระยาไพบูลย์สมบัติ คู่ที่ ๓ พระยาราชโยธา พระยาเสนาภูเบศร์ คู่ที่ ๔ พระยาบริรักษ์ราชา พระยาอัษฏาเรืองเดช คู่ที่ ๕ พระยาอร่ามมณเฑียร พระยาราชานุประดิษฐ์คู่ที่ ๖ แลมีนางเชิญ พระแสง ๒ เชิญเครื่อง ๖ เชิญพัด ๑ แล้วถึงเครื่องสูงหลัง ต่อมา นางสระเด็กศีศะจุก นางสระใหญ่ นางสระโขลน นางสระเชลยศักดิ์ เด็กข้าหลวงนุ่งผ้าพื้น สรวมเสื้อติดลูกไม้สพายแพร แล้วถึงหญิงมลายู ต่อไปกระบวนผู้ชาย ม้าจูง ๒ มหาดเล็ก บุตรข้าราชการนุ่งม่วง สรวมเสื้อเยี่ยรบับ สรวมเสื้อครุยนอก พวก ๑ แต่งนุ่งม่วง สรวมเสื้อเยี่ยรบับ ไม่สรวมเสื้อครุยพวก ๑ มหาดเล็กในกรม แต่งสรวมเสื้อขาวธรรมดา พวก ๑ แล้วถึงกระบวนทหารกองหลัง เปนที่สุด

เครื่องสูงนั้นเปลี่ยนยกเครื่องหักทองขวางเสีย ใช้เครื่องทองแผ่ลวด เครื่องประโคม คือกลองชนะยกกลองเงินกลองทองเสีย คงแต่กลองทองแดง ทหารกองหน้าแลหลังนั้น น้อยกว่างานก่อน คือมีกองลา ๑๐๐ คนตามธรรมเนียม

เครื่องเล่นสมโภช ที่นอกจากการเขาไกรลาศ คงมีเต็มที่อย่างงานก่อน

วันที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระภูษาม่วงฉลองพระองค์เยี่ยรบับ ประทับเครื่องราชอิศริยาภรณ์มหาจักรกรีบรมราชวงษ์ พระสงฆ์สวดธรรมจักกัปปวัตนสูตร

วันที่ ๔ เปลี่ยนเครื่องราชอิศริยาภรณ์ทรงนพรัตน์ราชวราภรณ์ พระสงฆ์สวดมหาสมัยสูตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงส่งพระกร พระเจ้าลูกเธอ ที่พระที่นั่งสุทธาสีอภิรมย์ แลรับพระกรที่พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท มาสดับพระสงฆ์ ๓๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์ บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในเวลาบ่ายเหมือนวันก่อนทั้ง ๒ วัน

แลในตอนค่ำทั้ง ๒ วันนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ แลเสด็จลงทอดพระเนตรกอมมิตตี ตัดสินต้นไม้ด้วยเหมือนวันก่อนมา

วันที่ ๕ มกราคม เปนวันกำหนดโสกันต์ เวลาเช้า ๓ โมง กับ ๕๘ นาที เปนปฐมฤกษ์ถึงเช้า ๕ โมงกับ ๖ นาที สุดพระฤกษ์ ตั้งกระบวนแห่เตรียมพร้อม อยู่ที่ชาลาน่าห้องเวรชาววังตามเคย พระเจ้าลูกเธอแต่งพระองค์ทรงเครื่องถอด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระภูษาม่วงฉลองพระองค์เยี่ยรบับ ประดับเครื่องราชอิศริยาภรณ์ อันเปนโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ เวลาเช้า ๔ โมงเศษ เสด็จออกทางพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ทรงส่งพระกรพระเจ้าลูกเธอลงทรงพระราชยานกง ณ เกยพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ แล้วเสด็จมาทรงพระราชยานที่พระทวารเทเวศร์รักษา พร้อมด้วยกระบวนตำรวจทหารมหาดเล็ก แห่นำตามเสด็จไปประทับ ณ พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท กระบวนแห่เดินมาตามทางที่เคย เมื่อพระราชยานกงพระเจ้าลูกเธอเทียบเกยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับพระกร เสด็จทรงพระดำเนิน ขึ้นสู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระเจ้าลูกเธอประทับพระเก้าอี้ น่าอาศน์สงฆ์บ่าย พระภักตร์สู่มงคลทิศ พระราชโกษา พนักงานพระภูษามาลา แบ่งพระเมาลี พระเจ้าลูกเธอ พันด้วยลวดทอง นาก เงิน เป็น ๓ ส่วนเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหาวิเชียรนพรัตน์ธรรมรงค์อันเปนโบราณมงคล ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ แลทรงจรดพระกรรไกร พระกรรบิด พระเจ้าลูกเธอส่วนหนึ่งแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมขุนบดินทรไพศาสโศภน สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์กรมพระภาณุพันธุวงษ์ วรเดช ทรงจรดพระกรรไกร พระกรรบิด โสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์ ละส่วนแล้ว พระราชโกษาได้เจริญพระเกษา ขณะนั้นพระสงฆ์ ๓๐ รูป ที่ได้มาเตรียมพร้อมอยู่ ได้สวดถวายไชยมงคล พราหมณ์เป่าสังข์ พนักงานประโคมเครื่องดุริยดนตรี แตรสังข์พิณพาทย์ แลมีการเล่นขึ้นพร้อมกัน เมื่อเสร็จโสกันต์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จทรงพระดำเนินมาทรงพระราชยาน ที่เกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ไปประทับเกยน่าเขาไกรลาศ พระเจ้าลูกเธอทรงพระเสลี่ยง มีโหรพราหมณ์บัณเฑาะว์แห่นำ คู่เคียงประจำข้างพระเสลี่ยง ไปเทียบที่เกยน่าเขาไกรลาศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับพระกร พระเจ้าลูกเธอ ขึ้นจากพระเสลี่ยง ให้ไปประทับ ณ ที่สรงสระอโนดาต เชิงเขาไกรลาศด้านอัษฏงคตทิศ เจ้าพนักงานไขน้ำจากปากสัตว์ทั้ง ๕ ซึ่งอยู่บนชะเวิกเขา คือ ราชสีห์ นาคราช ช้าง ม้า โค แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ แลน้ำพระพุทธมนต์ ในพระเต้าต่างๆ พระราชทานพระเจ้าลูกเธอ แล้วโปรดให้ สมเด็จ พระบรมโอรสาธิราช ๑ พระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมขุนบดินทรไพศาลโศภน ๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงษ์ ๑ เจ้าพระยาพลเทพ ๑ เจ้าพระยาภาษกรวงษ์ ๑ พระยามนตรีสุริยวงษ์ ๑ พระยาสุรศักดิ์มนตรี ๑ พระยาสีหราชเดโชไชย ๑ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี พระนางเจ้าพระวรราชเทวี พระราชเทวี แลพระบรมวงษานุวงษ์ฝ่ายในถวายน้ำพระเจ้าลูกเธอ โดยลำดับเสร็จแล้วพราหมณ์ได้ถวายน้ำสังข์ ตามลัทธิไสยเวทโหราสาตรเสร็จแล้ว พระเจ้าลูกเธอ เสด็จประทับในพลับพลาเปลื้องเครื่อง ริมสระอโนดาตเชิงเขาไกรลาศ ทรงเปลื้องเครื่องถอดแล้ว ทรงเครื่องอย่างขัตติยราชกุมาร ทรงสรวมพระชะฏาพอก ฝ่ายกระบวนแห่ี่ที่เคยเปลี่ยนแต่งเครื่องสีชมภู ก็ได้เปลี่ยนแต่งเปนสีชมภูทั้งสิ้น เด็กเชิญนกการเวก เปลี่ยนสรวมลำพอกชมภู เกี้ยวทองคำ เด็กคู่แห่ศีศะจุก เปลี่ยนสรวมลำพอกชมภู นางเชิญมยุรฉัตร แลเชิญเครื่องเปลี่ยนสรวมมงกุฏกษัตรีย์ ตั้งกระบวนเตรียมคอยอยู่พร้อมกัน ครั้นพระเจ้าลูกเธอทรงเครื่องเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงส่งพระกรพระเจ้าลูกเธอ ลงสู่เหนือพระราชยานกง ที่เกยน่าเขาไกรลาศด้านตวันตก กระบวนแห่ถวายคำนับ ประโคมแตรสังข์ ๓ ครั้ง ยาตรากระบวนตรงออก ประตูพิมานไชยศรี ไปโดยทางเดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับน่าพลับพลาเปลื้องเครื่อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ แก่ข้าราชการอยู่ครู่หนึ่งแล้ว เสด็จทรงพระราชยานจากเกยน่าเขาไกรลาศ ไปประทับเกยน่าพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท เสด็จขึ้นทรงรับพระกรฝ่ายใน

ส่วนการที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อโสกันต์เสร็จแล้ว พระสงฆ์ได้รับพระราชทานฉัน แลเครื่องไทยธรรมตามสมควรแล้ว เจ้าพนักงานได้รื้ออาศนสงฆ์ ตั้งพระราชบัลลังก์น่าเสาด้านตวันออก ตั้งพระเก้าอี้มีโต๊ะศิลา ๒ ข้างสำหรับตั้งเครื่องอิศริยยศ น่าพระที่นั่งเสวตรฉัตร สำหรับพระเจ้าลูกเธอประทับเมื่อเวลาสมโภช ตั้งโต๊ะบายศรีแก้ว ทอง เงิน แลเครื่องสมโภชน่าพระเก้าอี้ที่ประทับพระเจ้าลูกเธอ ที่พระบรมวงษานุวงษ์เฝ้า ย้ายไปอยู่มุขตวันตก มหาดเล็กเปลี่ยนมาเฝ้ามุขตวันออกหลังพระราชบัลลังก์ ที่ขุนนางเฝ้าอยู่มุขเหนือตามเดิม

เวลาย่ำค่ำ พระเจ้าลูกเธอ ทรงเครื่องต้นสรวมพระมหามงกุฏอย่างขัตติยราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระภูษาม่วง ฉลองพระองค์เยี่ยรบับ ประดับเครื่องราชอิศริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ทรงส่งพระกรพระเจ้าลูกเธอ ที่เกยพระที่นั่งสุทธาสีอภิรมย์ แล้วเสด็จออกทรงพระราชยาน จากเกยน่าพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ไปประทับเกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท เมื่อกระบวนแห่เดินมาโดยราชวิถี พระราชยานกงเข้าเทียบเกยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับพระกรพระเจ้าลูกเธอขึ้น เสด็จทรงพระดำเนิน สู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทให้ประทับ ณ พระเก้าอี้ที่สมโภช มีนางถวายอยู่งานพัดสองข้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับพระราชบัลลังก์ พร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทตามตำแหน่ง แล้วโปรดให้พราหมณ์พฤฒิบาศ โหรดาจาริย์ เบิกแว่นแก้วทองเงินเวียนเทียนเจ้าพนักงานประโคมเครื่องดุริยดนตรี แตรสังข์พิณพาทย์ แลมีการเล่นสมโภชพร้อมกัน ครั้นเวียนเทียนมาประจบคำรบ ๕ รอบพราหมณ์ดับเทียนถวายน้ำมพร้าว ด้ายผูกข้อพระบาทแลถวายเจิมเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์แลทรงเจิมพระราชทานพระเจ้าลูกเธอแล้ว สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช ซึ่งเปนอธิบดีสำหรับเครื่องราชอิศริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า ได้นำพานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับแล้วทรงประดับพระราชทานพระเจ้าลูกเธอ แลโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยยศ คือ หีบหมาก เสวยลงยา มีตราจุลมงกุฏ ๑ พานหมากเสวยทองคำ ๑ คนโทมีพานรองทองคำ ๑ กระโถนทองคำ ๑ กับทองคำใบหนัก ๑ ตำลึง เงินส่วนพระคลังข้างที่ ๒๐ ชั่ง ส่วนพระคลังมหาสมบัติ ๕ ชั่ง ดุมเพ็ชรสำรับ ๑ สมโภชพระเจ้าลูกเธอ แล้วโปรดให้พระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าราชการถวายเจิมต่อไป คือ สมเด็จ พระบรมโอรสาธิราช ๑ พระเจ้าราชวรวงษ์เธอกรมขุนบดินทรไพศาลโศภณ ๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพรหมวรานุรักษ์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศิริธัชสังกาศ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโศภณ ๑ พระสัมพันธวงษ์เธอ กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ ๑ พระยาอิศรานุภาพ ๑ ครั้นถวายเจิมเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจูงพระกร พระเจ้าลูกเธอ เสด็จขึ้นในพระฉาก โปรดให้พระบรมวงษานุวงษ์ฝ่ายในทรงเจิมแล้ว ทรงพระดำเนินสู่พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ส่งพระกรพระเจ้าลูกเธอ ลงประทับเหนือพระราชยานกง เดินกระบวนกลับตามทางเดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นทางพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท เสด็จไปรับพระกรที่พระที่นั่งสุทธาสีอภิรมย์ ตามเคย

ในเวลาเวียนเทียนสมโภชนี้ มีพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ แก่ข้าราชการด้วย

เวลา ๒ ยามเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางประตูพรหมโศกา ทรงพระดำเนิน ไปประทับที่ปรำชาลาน่ามุขพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ แลเหรียญที่รลึกสำหรับการพระราชพิธีโสกันต์ แก่พระบรมวงษานุวงษ์ ข้าราชการ ผู้เปนนายด้านนายงานทำการต่างๆ แลผู้ที่เข้ากระบวนแห่ กับรางวัลผู้ที่ได้นำต้นไม้มาตั้งตามสมควร เสร็จแล้ว เวลา ๗ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น

เปนเสร็จการพระราชพิธีโสกันต์แต่เท่านี้

(หมายเหตุ : การสะกดคำยึดตามราชกิจจานุเบกษา แต่การแบ่งย่อหน้าปรับเพื่อความชัดเจนในการอ่าน)



พิธีสมรสพระราชทาน



พระฉายาลักษณ์เสด็จเตี่ยและพระฉายา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสู่ขอพระธิดาพระองค์ใหญ่ ในสมเด็จพระอนุชาธิราชร่วมพระครรโภทร (สมเด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงเป็นพระราชโอรส ลำดับที่ ๔๕ ในรัชกาลที่ ๔ และทรงเป็นพระราชอนุชาองค์น้อย ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตา และสนิทสนมยิ่งนัก) พระราชทานอภิเษกสมรสกับพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ นั่นคือ หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ (ฐานันดรศักดิ์เมื่อแรกประสูติ) พระธิดาใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภานุวงศ์วรเดช ประสูติแต่ หม่อมเลี่ยม

ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีงานมงคลพิธีในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๓ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระราชทานน้ำพระมหาสังข์ มีเลี้ยงน้ำชา ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ ได้ทรงให้มีงานราตรีสโมสรสมโภชพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์และหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ ในการมงคลนั้นถือว่าเป็นครั้งแรกที่จัดงานราตรีสมโภชคู่บ่าวสาวขึ้นที่วัง บูรพาภิรมย์ โดยเชิญทั้งคนไทย ฝรั่ง ชายหญิงมาประชุมกันเป็นอันมาก มีการเต้นรำอย่างธรรมเนียมสากล เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานวังใหม่ ให้ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ (ก่อนหน้านั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังพระราชทานพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ที่ ริมคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้สะพานชมัยมรุเชษฐ์ แต่เมื่อเสด็จกลับมา วังยังสร้างไม่เสร็จ ทรงสมัครพระทัยเสด็จประทับอยู่ในเรือรบหลวงมูรธาวสิต สวัสดิ์ ที่ทรงเป็นผู้บังคับการ ประมาณ ๖-๗ เดือน เมื่อวังสร้างเสร็จ จึงเสด็จขึ้นวังใหม่ พร้อมกับทรงเสกสมรสด้วยหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์)

แต่ทว่าเป็นที่สลดสะเทือนใจนัก เพราะหลังจากเสกสมรสไม่กี่ปีต่อมา ความรักของหม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ กับพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ก็มิได้ราบรื่นงดงามตามพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าหญิงทิพยสัมพันธ์ทรง มีเหตุให้น้อยพระทัยพระสวามี ทรงปลงชีพพระองค์เองโดยการเสวยยาพิษ (ทรงดื่มยาพิษ) สิ้นชีพิตักษัย เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ เวลา ๑๐.๕๐ น. สิริพระชันษาได้ ๒๔ ชันษา ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอัฐิเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสลดพระทัยเป็นยิ่งนัก เนื่องเพราะทรงเป็นผู้สู่ขอด้วยพระองค์เอง และทรงเป็นพระปิตุลาโดยตรง จึงทรงเมตตาแก่พระโอรสพระองค์ใหญ่ของหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธ์เป็นพิเศษ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นเป็น พระองค์เจ้า เป็นกรณีพิเศษ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเป็นหลานรัก ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาและเอ็นดูเป็นพิเศษ

(วังของพระองค์ท่านปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพาณิชยการ พระนคร)

ข้อมูล อ้างอิงจาก หนังสืออาทิตย์อุไทย โดย สัจธรรม เรียบเรียง และหนังสือ 108 เทพแห่งสรวงสวรรค์ ฉบับพลเรือฯ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์


พิธีขึ้นตำหนักใหม่



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ