วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

พระพุทธรูปลอยน้ำ” เรื่องจริงที่เล่าไม่หมด


หลวงพ่อวัดบ้านแหลม พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองสมุทรสงคราม เป็น ๑ ใน ๕ ของพระพุทธรูปที่ลอยน้ำมา

คนไทยในสมัยก่อน เมื่อเวลามีข้าศึกศัตรูมารุกราน ก็ไม่ได้ห่วงแต่ชีวิตและทรัพย์สิน ยังห่วงสิ่งที่ตนเคารพนับถือ พยายามจะให้พระพุทธรูปที่ตนกราบไหว้บูชาเป็นประจำหนีไปด้วย อีกทั้งยังนิยมแต่งเติมเสริมเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่ตนเคารพนับถือนั้นให้ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงทำให้เกิดมี “พระพุทธรูปลอยน้ำ” ขึ้น

พระพุทธรูปองค์ใหญ่ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ น้ำหนักไม่ใช่น้อย ที่มีตำนานว่าลอยน้ำลงมาจากทางเหนือนั้น กล่าวกันว่ามีอยู่ 3 องค์ เป็นพี่น้องกัน แต่บางตำนานก็ว่ามีถึง 5 เพิ่มขึ้นมาอีก 2 องค์

ตำนานนั้นกล่าวว่า มีหนุ่มเมืองเหนือ 5 พี่น้อง มีใจใฝ่ในพระพุทธศาสนา จึงชวนกันไปบวชเป็นพระภิกษุ ต่างศึกษาธรรมบำเพ็ญบารมีอย่างเคร่งครัดจนสำเร็จเป็นอริยสงฆ์ทั้ง 5 องค์ และพร้อมใจกันอธิษฐานว่า ชีวิตนี้จะบำเพ็ญบารมีเพื่อช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นทุกข์จนกว่าจะนิพพาน เมื่ออริยสงฆ์ทั้ง 5 ดับขันธ์ ได้เข้าสถิตอยู่ในพระพุทธรูป 5 องค์ ปรารถนาจะช่วยดับทุกข์ให้สัตว์โลกต่อไป และได้แสดงอิทธิฤทธิ์ลอยน้ำลงมาตามลำน้ำ 5 สาย ชาวบ้านพบเห็นจึงอาราธนาขึ้นประดิษฐานอยู่ตามวัดต่างๆ

องค์แรกที่ถือกันว่าเป็นพี่ใหญ่สุด ขึ้นบกก่อนองค์อื่น ก็คือ “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” เล่ากันว่าท่านลอยมาตามลำน้ำแม่กลองแล้วไปจมอยู่ปากอ่าว ชาวบ้านไปตีอวนติดพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรขนาดเท่าคนจริงขึ้นมา จึงนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลม ริมฝั่งแม่กลองใน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เลยเรียกกันว่า “หลวงพ่อวัดบ้านแหลม” ตลอดมา


หลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๑.๖๕ เมตร สูง ๑.๔๘ เมตร

องค์ที่ขึ้นบก ต่อจากหลวงพ่อวัดบ้านแหลม ก็คือ หลวงพ่อพุทธโสธร ซึ่งเล่ากันว่าท่านลอยเข้าไปในแม่น้ำบางปะกง โดยลอยมาพร้อมกัน 3 องค์ ชาวบ้านพยายามจะฉุดขึ้นบกก็ไม่สำเร็จ ทั้ง 3 องค์ลอยทวนน้ำขึ้นไป ตำบลนั้นเลยได้ชื่อว่า “สามพระทวน” ต่อมาก็กลายเป็น “สัมปทวน” จนถึงทุกวันนี้

ทั้ง 3 องค์ลอยเข้าไปในคลองหนึ่ง ชาวบ้านพยายามจะฉุดขึ้นฝั่งก็ไม่สำเร็จอีก ทั้ง 3 องค์ลอยกลับออกมาที่แม่น้ำบางปะกง คลองนั้นเลยได้ชื่อว่า “คลองพระ”

พอ ลอยออกแม่น้ำ กระแสน้ำก็ทำให้ทั้ง 3 องค์จมลง องค์ที่เป็นพระพุทธโสธรมาโผล่ที่หน้าวัดโสธร ซึ่งตอนนั้นยังมีชื่อว่า “วัดหงส์” อาจารย์ไสยศาสตร์ท่านหนึ่งได้ตั้งศาลเพียงตาบวงสรวง แล้วใช้สายสิญจน์คล้องพระหัตถ์อัญเชิญขึ้นบนฝั่ง นำไปประดิษฐานไว้ในวิหาร

หลวง พ่อพุทธโสธรเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สมัยล้านนา หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้างเพียงศอกเศษ มีพุทธลักษณะที่งดงามมาก ทั้งพระหัตถ์ พระเนตร ตลอดจนพระกรรณเป็นลักษณะเฉพาะที่สร้างกันในหลวงพระบางและเวียงจันทน์ ซึ่งเรียกกันว่า “พระลาว” จึงสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากลาว

ต่อ มาได้เกิดโรคฝีดาษตะบาดขึ้นในจังหวัดฉะเชิงเทรา ชายคนหนึ่งซึ่งป่วยด้วยโรคนี้ แต่จะหันหน้าไปพึ่งใครก็ไม่ได้เพราะทุกคนตกอยู่ในสภาพเดียวกัน เมื่อไม่มีใครเป็นที่พึ่งจึงหันไปหาพระพุทธโสธร ไปนมัสการอธิษฐานขอให้หลวงพ่อช่วยรักษา โดยรับเอายาดีจากหลวงพ่อโสธรมา 3 อย่าง คือ ขี้ธูป ดอกไม้เหี่ยวแห้งที่แท่นบูชา และน้ำมนต์ ครั้นเอามาต้มกิน ทา อาบ ผลปรากฏว่าโรคหายไปอย่างน่าอัศจรรย์ จึงจัดแก้บนถวาย กิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อจึงแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง

หลวงพ่อโตวัดบางพลีใหญ่ใน เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ แห่งอำเภอบางพลี สมุทรปราการ

องค์ที่ถือว่าเป็นน้องเล็ก ขึ้นบกหลังสุด กลับเป็นองค์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ “หลวงพ่อโต” วัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ตาม ตำนานกล่าวว่า หลวงพ่อโตลอยน้ำมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ปรากฏให้คนเห็นที่ตำบลหนึ่งในกรุงเทพฯ มีคนถึงสามแสนมาช่วยกันฉุดให้ท่านขึ้นบก แต่ท่านก็ไม่ยอมขึ้น ผลุบจมน้ำหายไป ตำบลนั้นเลยเรียกกันว่า “บางสามแสน” ต่อมาก็เพี้ยนเป็น “สามเสน” จนปัจจุบัน

หลวง พ่อมาโผล่อีกครั้งที่ปากคลองสำโรง ชาวบ้านกลัวว่าท่านจะจมหายไปอีกเลยผูกแพเสริม แล้วจูงท่านเจ้ามาในคลอง อธิษฐานกันว่าถ้าท่านต้องการจะขึ้นบกตรงไหนก็ให้ท่านหยุดตรงนั้น จนท่านลอยมาถึงหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงครามท่านก็หยุด ชาวบ้านที่พายเรือตามมาเป็นร้อยจึงอัญเชิญท่านขึ้นฝั่งได้สำเร็จ

ตอน ที่จะอัญเชิญท่านเข้าประดิษฐานในวิหารนั้น ปรากฏว่าองค์ท่านใหญ่กว่าประตู เลยต้องใช้วิธีรื้อหลังคาแล้วยกข้ามฝาผนังเข้าไป ต่อมาเห็นว่าวิหารเก่าเล็กมาก จึงสร้างวิหารใหม่ติดกับวิหารเก่าให้ท่านและประดิษฐานมาจนถึงทุกวันนี้

หลวงพ่อวัดเขาตะเครา หรือหลวงปู่ทองวัดเขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่ง ของเมืองเพชรบุรี ที่ชาวเมืองและคนในท้องถิ่นใกล้เคียงเคารพนับถือและเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ ของท่านมานานหลายชั่วอายุคน

ส่วนตำนานที่กล่าวว่ามี 5 องค์นั้น ได้รวมเอาหลวงพ่อวัดเขาตะเครา และหลวงพ่อวัดไร่ขิงเข้าไปด้วย

วัด เขาตะเครา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเพชรบุรี ต.บางครก อ.บ้านแหลม ห่างจากตัวจังหวัดเพชรบุรีประมาณ 10 กิโลเมตร เป็นวัดที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คือหลวงพ่อวัดเขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน มีประวัติเล่าว่า เมื่อ พ.ศ.2307สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านแหลมได้ไปพบพระพุทธรูป 2 องค์ หล่อด้วยทองเหลือง องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืน นำไปประดิษฐานไว้ ณ วัดบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม เรียกว่าหลวงพ่อวัดบ้านแหลม ส่วนอีกองค์หนึ่งนำไปประดิษฐานไว้ ณ วัดเขาตะเครา เรียกกัน ว่า "หลวงพ่อวัดเขาตะเครา"

หลวง พ่อวัดเขาตะเคราที่กล่าวกันว่าท่านลอยน้ำมาด้วยนั้น ตามประวัติว่าท่านจมอยู่ปากแม่น้ำแม่กลองเช่นเดียวกับหลวงพ่อวัดบ้านแหลม เมื่อชาวบ้านตีอวนได้ขึ้นมาอีกองค์ จึงเอาไปให้ญาติพี่น้องที่บ้านแหลม เมืองเพชร ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิม และนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา ตำบลบางครก อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี

ศรัทธามหาชนต่อองค์หลวงพ่อวัดไร่ขิง

ส่วนองค์ ที่ 5 คือ “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” อ.สามพราน จ.นครปฐม ที่ว่าลอยน้ำมาตามแม่น้ำนครชัยศรี และถูกอัญเชิญขึ้นไว้ที่วัดไร่ขิงซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ

หลวง พ่อวัดไร่ขิงเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้ว สูง 4 ศอก 26 นิ้ว พุทธศิลปะน่าจะเป็นพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

พระ พุทธรูปเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโลหะหนัก คนรุ่นใหม่คงยอมรับไม่ได้ว่าท่านลอยน้ำมาได้ แต่ถ้าพิจารณาใคร่ครวญดูแล้วก็น่าเชื่อได้ว่าท่านลอยน้ำมาจริงๆ เพราะตอนกรุงศรีอยุธยาแตกใน พ.ศ. 2310 นั้น คนไทยที่ต้องหนีเอาชีวิตรอด ยังห่วงพระพุทธรูปที่เคารพนับถือด้วย กลัวว่าจะถูกพม่าเผาทำลาย ครั้นจะแบกท่านหนีหรือฝังดินไว้แบบฝังสมบัติก็คงไม่ไหว จึงต่อแพเอาท่านซ่อนไว้ข้างใต้ ปล่อยลอยน้ำไหลลงทางใต้ให้พ้นเงื้อมมือของคนใจบาปหยาบช้า ท่านคงลอยน้ำมาด้วยวิธีนี้

แต่คนไทยเรานับถือสิ่งใดก็อยากให้สิ่งนั้นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะว่าหลอกกันก็ไม่ใช่ เพียงแต่เล่าไม่หมดเท่านั้นเอง http://www.palungdham.com/t441.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ