วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ยุทธศาสตร์ ๑๐ ปีดับไฟใต้

http://whos.amung.us/cwidget/dcqjfyjsga2w/00adef000000.png

ยุทธศาสตร์ ๑๐ ปีดับไฟใต้*


กล่าวนำ

แม้ว่าการกำหนดยุทธวิธีลดเหตุร้ายรายวัน จะเป็นความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จริงอยู่ แต่คำถามมีอยู่ว่าถ้าสงครามก่อความไม่สงบยืดเวลาออกไปจนกลายเป็นสงครามยืด เยื้อแล้ว การลดเหตุร้ายรายวัน จะสามารถตอบโจทย์ทางยุทธศาสตร์ระยะยาวได้อย่างไร? ดังนั้นเพื่อเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์การเอาชนะการก่อความไม่สงบระยะยาว ๑๐ ปี บทความนี้จะพยายามไขคำตอบในประเด็นการกำหนดขั้นในการเอาชนะทางยุทธศาสตร์ โดยการใช้ตัวแบบอมตะของยุทธศาสตร์สงครามยืดเยื้อของเหมาเจ๋อตุง ๓ ขั้น คือ ขั้นการรับ ขั้นการยัน และขั้นการรุก แล้วนำงานหลักได้แก่ งานการเมือง งานการทหาร และงานพัฒนา มาจับในแต่ละขั้น ขณะเดียวกัน กองทัพจะต้องพัฒนากำลังพลให้มีคุณภาพควบคู่ไปกับการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์และ เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การบรรลุยุทธศาสตร์ทั้ง ๓ ขั้น ภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและชัดเจน

ลำดับการนำเสนอจะประกอบด้วยสาระสำคัญดังนี้

๑. ยุทธศาสตร์การเอาชนะการก่อความไม่สงบ

๒. การพัฒนากำลังพลเพื่อเอาชนะการก่อความไม่สงบ

๓. การพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีเพื่อเอาชนะการก่อความไม่สงบ

๔. การบริหารจัดการเพื่อเอาชนะการก่อความไม่สงบ

๑. ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะการก่อความไม่สงบ ในระยะเวลา ๑๐ ปี (๒๕๕๑-๒๕๖๑)

ขั้นยุทธศาสตร์เพื่อชนะการก่อความไม่สงบสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ขั้นคือ ขั้นการรับ (๕ ปี) ขั้นการยัน (๓ ปี) และขั้นการรุก (๒ ปี)

ขั้นการรับ ในช่วง ปี (๒๕๕๑-๒๕๕๕)

ขั้นนี้กองทัพจะต้องกำหนดงานออกเป็น ๓ ส่วนหลักๆ คือ งานการเมือง งานการทหาร และงานพัฒนา โดยที่งานแรก ด้านการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เพราะปัญหาการก่อความไม่สงบเป็นปัญหาการเมืองที่ต้องใช้วิธีการแก้ทางการ เมืองเป็นหลัก ดังนั้นกองทัพจะต้องได้รับนโยบายจากรัฐบาลที่เป็นวัตถุประสงค์ทางการเมือง ที่ชัดเจน กล่าวคือ กำหนดให้ปัญหาการก่อ

* ลงตีพิมพ์ในวารสารเสนาธิปัตย์ ปีที่ ๕๗ ฉบับที่ ๒ พฤษภาคม-สิงหาคม, ๒๕๕๑

______________________________________________________________________________

ความไม่สงบ จชต. เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อที่รัฐบาลจะได้ทุ่มเททรัพยากรทั้งมวลไปสู่การแก้ปัญหา งานที่สอง งานการทหาร ขั้นนี้ เน้นไปที่การปิดล้อมและตรวจค้นทางทหาร ในระดับยุทธศาสตร์ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อการปิดล้อมทางความคิดแบ่งแยกดินแดนทางยุทธศาสตร์ มากกว่าการปิดล้อมทางทหาร เพื่อทำลายหรือควบคุมผู้ก่อความไม่สงบเท่านั้น งานที่สาม งานพัฒนา ด้วยปรัชญาที่ว่า การเอาชนะการก่อความไม่สงบ คือการเอาชนะจิตใจของประชาชน กองทัพต้องเริ่มโครงการด้านการพัฒนาโดยมุ่งเน้นไปที่งานสร้างเยาวชน และงานสร้างกองกำลังประชาชน เพื่อเข้าทำหน้าที่แทนทหาร เช่น การ รปภ.ครู แนวเดียวกัน กองทัพจะต้องจัดสรรกำลังพลและเครื่องไม้เครื่องมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้น ฐาน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเชื่อมโยงวัฒนธรรมดั้งเดิมกับวัฒนธรรมที่ทันสมัย ให้เข้าด้วยกันได้โดยปราศข้อระแวงสงสัย

ขั้นการยัน ในช่วง ๓ ปี (๒๕๕๖-๒๕๕๘)

ขั้นนี้ กองทัพแบ่งงานออกเป็น ๓ ส่วน เหมือนขั้นการรับ แต่เพิ่มความเข้มข้นของงานดังนี้ งานแรก งานการเมือง กองทัพต้องมีส่วนร่วมกับ ศอ.บต. และฝ่ายปกครอง นนการจัดระเบียบการเมืองระดับท้องถิ่น เช่น อบต. กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ด้วยการใช้กลยุทธล้างความคิดและบุคคลที่ได้รับการจัดตั้งโดยกลุ่มบีอา ร์เอ็น โคออร์ดิเนต พยายามจัดระเบียบการปกครองของกลุ่มก่อความไม่สงบ ด้วยการซ้อนกลโจร งานที่สอง งานการทหาร ขยายผลการปิดล้อมตรวจค้นทางทหาร ให้ควบคู่ไปกับการปิดล้อมทางยุทธศาสตร์การเมือง กองทัพต้องจัดตั้งองค์กรที่เป็นหน่วยนำทางการเมือง สลายแนวคิดแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มอาร์เคเค ด้วยวิธีทางสันติวิธี งานที่สามงานพัฒนา ห้วงหลังจากปีที่ ๕(ต่อจากขั้นการรับ) กลุ่มเยาวชนและกองกำลังประชาชน เริ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้น จนกระทั่งสามารถเข้ารับช่วงต่องานของทางทหาร ได้เป็นผลสำเร็จ กลุ่มเยาวชนและกองกำลังประชาชนเหล่านี้ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตและทิศทางของแต่ละชุมชนของตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องไม้เครื่องมือในการพัฒนาท้องถิ่นจากภาครัฐ โดยมีกองทัพเป็นแกนนำในการสนับสนุน

ขั้นการรุก ในช่วงปี (๒๕๕๙-๒๕๖๐)

ขั้นนี้เป็นช่วงสุดท้ายของการกำหนดยุทธศาสตร์การเอาชนะการก่อการความไม่สงบ ก็เช่นเดียวกับขั้นการรับและขั้นการยัน งานแรก ด้านการเมือง คือเป็นห้วงของความสำเร็จในการเอาชนะการก่อความไม่สงบ มีการเจรจาทางการเมืองเป็นระยะ ๆ ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ จนสามารถปลดล็อคทางการเมืองได้สำเร็จ โดยที่รัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษ ๓ จชต. กับอีก ๔ อำเภอ ของจังหวัดสงขลา งานที่สอง งานการทหาร เป็นงานสถาปนาพื้นที่ความมั่นคง โดยการจัดตั้งหมู่บ้านสีเขียวเต็มพื้นที่ จชต. ผสมผสานกับการจัดตั้งหมู่บ้าน ป้องกันชายแดน เพื่อเป็นชุมชนเข้มแข็งหลัก และเตรียมมอบงานด้านความมั่นคงช่วงโค้งสุดท้ายให้กับฝ่ายปกครองพลเรือน งานที่สาม งานพัฒนา กลุ่มเยาวชนและกองกำลังประชาชนที่

ป้องกันและดูแลจัดตั้งมาตั้งแต่ขั้นการรับนั้นได้เติบโต กระจัดกระจายอยู่ในระดับข้าราชการของรัฐ และระดับ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บางส่วนได้ทำหน้าที่ระดับสภาจังหวัดและสภาผู้แทนราษฎร

โดยสรุป ในปี พ.ศ.๒๕๖๐ สถานการณ์ภาคใต้ จะคืนกลับสู่ความมีเสถียรภาพ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ ทางทหาร และสังคมจิตวิทยา

๒. การพัฒนากำลังพลเพื่อเอาชนะการก่อความไม่สงบ

กองทัพกำหนดเป้าหมาย เพื่อการพัฒนากำลังพลไปสู่กำลังที่มีคุณภาพ เพื่อการป้องกันและป้องปรามการก่อความไม่สงบ มิใช่การเตรียมกำลังพลเพื่อการทำสงครามตามแบบ โดยแบ่งระดับการพัฒนา ๔ ระดับคือ (๑) พลทหารยุทธศาสตร์ (๒) นายสิบการข่าวและประชาสัมพันธ์เชิงรุก (๓) นายทหารเสนาธิการระดับปฏิบัติ (๔) นายทหารเสนาธิการระดับนโยบาย

พลทหารยุทธศาสตร์ เนื่องจากงานป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ เป็นงานระดับล่างที่จะสะท้อนถึงงานยุทธศาสตร์ กลุ่มอาร์เคเคได้ใช้การทำงานทางยุทธวิธีเพื่อชี้ผลรวมทางยุทธศาสตร์ โดยกำหนดให้มีกลุ่มปฏิบัติการ ๖-๘ คน ต่อหมู่บ้าน ดังนั้น เพื่อให้ระดับของการชิงไหวชิงพริบทางยุทธวิธี กองทัพต้องสร้างพลทหารยุทธศาสตร์ขึ้นเพื่อเป็นกำลังเผชิญหน้าหลักกับกลุ่มอา ร์เคเค โดยมีการฝึกเพิ่มเติมพิเศษให้กับพลทหารยุทธศาสตร์เหล่านี้ ให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอคำสั่งในงานปฏิบัติข่าวลับขั้นต้น ให้มีการฝึกการปฏิบัติการพิเศษให้เทียบเท่ากลุ่มอาร์เคเค โดยการสร้างชุดปฏิบัติการพลทหารยุทธศาสตร์ ที่จบหลักสูตรจู่โจมและร่ม เพื่อทำหน้าที่จัดตั้งและฝึกกองกำลังประชาชนและให้สามารถใช้กองกำลังประชาชน ทางการเมืองเป็น

นายสิบการข่าวและประชาสัมพันธ์เชิงรุก การรายงานการเมืองในกองทัพ เพื่อให้พลทหารยุทธศาสตร์ทำงานด้านยุทธวิธีไปแล้ว ระดับนายสิบต้องทำหน้าที่เสริมจุดอ่อนของกองทัพ คือ งานด้านการเมืองและการประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยงานนี้ต้องเป็นระดับนายสิบ ที่สามารถทำหน้าที่ในการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation) ได้ในระดับชุดปฏิบัติการข่าวสาร ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า การทำหน้าที่การข่าวและการประชาสัมพันธ์เชิงรุกจะต้องใช้ศิลปะชั้นสูง เพื่อให้งานบรรลุความสำเร็จ นายสิบปฏิบัติการข่าวสารต้องเป็นหลักในการเอาชนะข่าวลือ ข่าวปล่อย หรือการสร้างสถานการณ์ใด ๆ จากกลุ่มอาร์เคเค

นายทหารเสนาธิการระดับปฏิบัติการ เป็นนายทหารที่สำเร็จจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ที่มีความเข้าใจภาพงานและภารกิจ จชต. โดยการบูรณาการความรู้ ๒ สำนักคิดหลัก คือ สำนักคิดการก่อการร้ายและสำนักคิดการก่อความไม่สงบ จนสามารถนำไปประยุกต์และกำหนดเป็นแผนยุทธการในการปฏิบัติระดับ ฉก.หมายเลขตัวเดียวได้ เป็นการแปลงยุทธศิลป์ไปสู่ยุทธวิธี เต็มพื้นที่ปฏิบัติการ ขณะเดียวกันก็ต้องเก็บรวบรวมบทเรียนจากการรบเพื่อส่งกลับมาให้สถาบันการ ศึกษาได้ปรับแก้กำหนดและกำหนดเป็น หลักนิยมในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบขึ้นมาเป็นการเฉพาะสำหรับ งานดับไฟใต้

นายทหารเสนาธิการระดับนโยบาย เมื่อ ๓ กลุ่มแรกเป็นระดับผู้ปฏิบัติเพื่อป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบจึงมี ความจำเป็นที่จะต้องมีระดับมันสมอง คือ ระดับผู้อำนวยการกอง (ชั้นยศพันเอกพิเศษ) ที่กำหนดนโยบายตามหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพ บุคลากรเหล่านี้ควรได้มีการทำความเข้าใจ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใน จชต. ว่าประกอบด้วยองค์ความรู้ การก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบอันเป็นไปในทิศทาง เดียวกันกับกลุ่มนายทหารเสนาธิการระดับปฏิบัติการ แต่เป็นผู้กำหนดนโยบายหลัก โดยมีการบูรณาการด้านความรู้ทั้งสองประการ เพื่อกำหนดนโยบาย และสร้างกลไกพิเศษเพื่อการบริหารจัดการ การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบเป็นการเฉพาะ

โดยสรุป เมื่อกำลังพลของกองทัพได้มีการพัฒนาขนานกันไปทั้ง ๔ ระดับแล้ว เรามีพลทหารที่เข้าใจงานยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับนายสิบการข่าวและประชา สัมพันธ์เชิงรุกที่ทำงานการปฏิบัติการข่าวสารบนเส้นทางการเอาชนะทาง ยุทธศาสตร์ในขณะที่นายทหารเสนาธิการระดับปฏิบัติการก็มีความเข้าใจในเรื่อง การก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบ เป็นองค์รวม สามารถให้ความรู้เพิ่มเติมกับ ๒ กลุ่มแรก ได้ความสำเร็จในการเอาชนะการก่อความไม่สงบ จะชัดเจนขึ้น จากทิศทางนโยบายที่ถูกต้องและเหมาะสมของกลุ่มนายทหารเสนาธิการระดับนโยบาย ที่จะเป็นผู้กำหนดทิศทางและกรอบแนวทางปฏิบัติที่ไปทางเดียวกับกอง ทัพ

๓. การพัฒนาด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีเพื่อเอาชนะการก่อความไม่สงบ

การพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยี หัวใจสำคัญอยู่ที่ต้องเป็นสิ่งที่ตอบสนองกับภารกิจการป้องกันและการปราบปราม การก่อความไม่สงบ ซึ่งมีความแตกต่างกับสิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับงานสงครามตามแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ๓ ขั้น คือ รับ-ยัน-รุก กองทัพจึงควรจัดหาและพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีพอเป็นสังเขปดังนี้

ขั้นการรับ (๒๕๕๑-๒๕๕๕) มีงาน ๓ งาน คือ งานการเมือง งานการทหาร และงานพัฒนา โดยที่งานแรก งานการเมือง ขั้นนี้ อาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยี กองทัพจะต้องจัดหาเพื่อความมุ่งหมายในการสนับสนุน เป้าหมายการเอาชนะสงครามทางการเมืองของรัฐบาล งานที่สอง งานการทหาร แบ่งการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีออกเป็น ๒ ระดับ ระดับแรก เป็น ระดับการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นทางทหาร ที่ต้องการอาวุธขนาดเบาที่มีความคล่องตัวในการนำพา เช่น อาวุธประจำกายสำหรับการรบในเมือง แก๊สน้ำตา ที่สามารถหยุดการหลบหนีหรือการแยกสลายกลุ่มอาร์เคเคออกจากฝูงชนได้ และมีการจัดหาหรือพัฒนายานยนต์หุ้มเกราะ ที่ใช้เฉพาะการรบในเมืองและภารกิจปราบจลาจล ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่ใช้ยานยนต์พลเรือน หรือรถปิคอัพ มีจุดอ่อนที่ความบอบบางไม่สามารถทนแรงระเบิดแสวงเครื่องได้ หรือยานยนต์ฮัมวีหรือยูนิม็อคที่เป็นยุทโธปกรณ์ยานยนต์ สำหรับการรบตามแบบ ระดับที่สอง เป็นระดับการปฏิบัติการปิดล้อมทางความคิด บทบาทหลักที่ควรใช้ คือ กิจการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ ดาวเทียม และการแอบแฝงงานการปิดล้อมทางความคิด แทรกซ้อนเข้าไปในโปรแกรมโทรศัพท์มือถือ และระดับนี้จะใช้อย่างเต็มรูปแบบ ก็คือ ทำการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ตามสื่อทุกชนิดที่กองทัพเข้าถึง งานที่สาม งานพัฒนา ยุทโธปกรณ์หลักควรเป็นไปเพื่อการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานของชุมชนและท้องถิ่น เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา กองทัพต้องเจียดอาวุธปืนคาร์บิน เพื่อสนับสนุน ฉก.โดยรวม ในการรื้อฟื้นกองกำลังประชาชนให้เข้มแข็ง เทียบเท่ากับศักยภาพของกลุ่มอาร์เคเค

ขั้นการยัน (๒๕๕๖-๒๕๕๘) มีงานหลัก ๓ งาน เช่นเดียวกับขั้นการรับ ควรมีการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีดังนี้ งานแรก งานการเมืองให้เน้นไปที่เทคโนโลยีที่สนับสนุนความร่วมมือในด้านการเมืองการ ปกครองของการเมืองระดับท้องถิ่น กับ ศอ.บต. และส่วนงานพลเรือน งานที่สอง งานการทหาร ควรเพิ่มจำนวนและคุณภาพของอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยี ให้หน่วยนำทางการเมืองของกองทัพ เน้นภารกิจการปิดล้อมทางความคิด ด้วยคำถามที่ว่า ทำอย่างไร? จะให้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสื่อนำ เพื่อให้กลุ่มก่อความไม่สงบ ยุติแนวความคิดในการแบ่งแยกดินแดน งานที่สาม งานพัฒนา ยังคงสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย มากขึ้นเพื่อจัดตั้งและติดอาวุธให้กับ ชรบ. , อรบ. และกองกำลังประชาชนมุสลิมที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ รวมทั้งเริ่มติดอาวุธขนาดเบาให้กับกลุ่มเยาวชนวัยรุ่น ที่กำลังเติบโตขึ้นเป็น ชรบ.และ อรบ.

ขั้นการรุก (๒๕๕๙-๒๖๖๐) ในเรื่อง ๓ งานหลัก ขั้นนี้จะเน้น งานที่ ๓ คืองานพัฒนา เป็นงานหลักโดยการระดมยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการสถาปนาพื้นที่ ความมั่นคง ในการจัดตั้งหมู่บ้านเข้มแข็งของพื้นที่ภายใน ๓ จชต.และพื้นที่ตามแนวชายแดน ที่สอดคล้องกับการพัฒนากองกำลังประชาชนและกลุ่มเยาวชนวัยรุ่นที่เข้มแข็ง

๔. การบริหารจัดการเพื่อเอาชนะการก่อความไม่สงบ

หลักพื้นฐานสำคัญในการบริหารจัดการด้านความมั่นคงในการแก้ปัญหาความสงบต้อง รองรับยุทธศาสตร์ ๓ ขั้นของการเอาชนะการก่อความไม่สงบ และสอดรับกับงาน ๓ งานหลักอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีหลักการบริหารจัดการที่สำคัญ ดังนี้

๑. โครงสร้างองค์กร ต้องจัดตั้งภายใต้ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่มีการจัดองค์กรเป็นกลุ่มงาน (Cluster) ตั้งแต่ระดับ กอ.รมน. จนถึง กอ.รมน.ภาค ๔ สน. มีการปรับรื้อระบบเสนาธิการทุกส่วนงานให้สั้นและมีเอกภาพมากที่สุด

๒. การบริหารจัดการกำลังพล ต้องดำเนินการภายใต้การพัฒนากำลังพลเพื่อเอาชนะการก่อความไม่สงบ โดยการเน้นความสำคัญของการแบ่งมอบการตัดสินใจให้กับหน่วยระดับล่างให้มากที่ สุด ตามแนวคิดได้แก่ พลทหารยุทธศาสตร์ นายสิบการข่าวและประชาสัมพันธ์เชิงรุก นายทหารเสนาธิการระดับปฏิบัติการ และนายทหารเสนาธิการระดับนโยบาย

๓. การบริหารจัดการพื้นที่ กองทัพจะต้องสร้างความเข้าใจใหม่ ในเรื่องนี้ โดยมิใช่มองเพียงแค่การบริหารพื้นที่ทางกายภาพอย่างที่เคยปฏิบัติกันมาคือ เพียงกำหนดพื้นที่สีหรือพื้นที่ตามระดับการควบคุมของรัฐเท่านั้น กองทัพจะต้องมองออกไปถึงการบริหารพื้นที่แห่งความหวาดกลัว การบริหารพื้นที่ทางสื่อและพื้นที่ในแง่กฎหมายและการจัดสรรงบประมาณ และท้ายที่สุดต้องมีการบูรณาการ จัดการพื้นที่ทั้ง ๕ พื้นที่ คือ พื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่แห่งความหวาดกลัว พื้นที่ทางสื่อ พื้นที่ในแง่กฎหมาย และพื้นที่ในการจัดสรรงบประมาณ

๔. การบริการจัดการระดับยอดขององค์กรจัดการความมั่นคง ภายใต้แนวคิดที่ว่า การแก้ปัญหาความมั่นคงปัญหาสำคัญอยู่ที่ ตัวผู้บังคับบัญชาระดับสูง ไม่ใส่ใจหรือไม่ให้ความสำคัญของปัญหา ทำให้การบริหารจัดการเกิดความยุ่งยาก เพราะผู้บังคับบัญชาระดับหัวไม่เล่น หรือไม่สนใจที่จะเล่น ปัญหานี้จะต้องมีใช้ระบบเพื่อดูแลการบริการจัดการ มิใช่การใช้บุคคลเป็นจุดศูนย์กลางในการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน เช่น ปัญหาการก่อความไม่สงบที่เป็นอยู่ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูง ต้องรู้สำนึกของงานในหน้าที่อย่างสูง

๕. ความต่อเนื่องของนโยบายในการเอาชนะการก่อความไม่สงบ ก็เป็นประเด็นสำคัญในการบริหารจัดการ ควรมีระบบหรือกฎหมายควบคุม ให้มีความต่อเนื่องในเชิงนโยบาย มิใช่มีการเปลี่ยนนโยบายบ่อย ๆ ตามการเปลี่ยนตัวของผู้บังคับบัญชา จนกระทั่งระดับการปฏิบัติการในพื้นที่ เกิดความชะงักงันหรือไม่ต่อเนื่องในการแก้ปัญหา เป็นอยู่อย่างนั้น โดยไม่มีการแก้ไขใดๆ

๖. จัดตั้งองค์การหรือหน่วยงานเฉพาะ เพื่อการดำเนินการบริหารจัดการ แก้ปัญหาความไม่สงบ จชต. โดยให้มีลักษณะการจัดสรรบุคคลที่ต้องทำหน้าที่ ๒ หน้าที่ (สวมหมวก ๒ ใบ) ให้น้อยที่สุด เพื่อให้มุ่งเน้นประสิทธิภาพของเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้มากที่สุด และป้องกันการโยกย้าย ผ่องถ่ายงบประมาณ ส่วนหนึ่งไปยังอีกหน่วยงานหนึ่ง

๗. จัดตั้งองค์กรอิสระ จากกลุ่มนักวิชาการ สถาบันการศึกษา ภายนอกกองทัพ กลุ่มเอ็นจีโอและภาคประชาชนที่เข้มแข็ง เพื่อตรวจสอบประเมินผล ความชัดเจนและความต่อเนื่องของการดำเนินงานตามหลักการบริหารจัดการ ตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๖ ที่กล่าวมาแล้ว จุดอ่อนสำหรับการให้หน่วยงานในกองทัพประเมินผลกันเองนั้น อาจจะมีบางส่วนที่ประเมินผล เข้าลักษณะการรักษาหน้านายกันเกินไป จนไม่ได้ข้อเท็จจริงอะไรมากนัก

การบริหารจัดการของการเอาชนะการก่อความไม่สงบทั้ง ๗ ประการ ล้วนเป็นประเด็นใหญ่ที่จะต้องมีการสร้างความเข้าใจระหว่างหน่วยงาน องค์กรและบุคลากรทุกระดับของกองทัพว่า ควรเข้าไปเป็นส่วนใดของจิ๊กซอว์ในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบของยุทธศาสตร์ ๓ ขั้น และ ๓ งานหลัก หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นการบริหารจัดการภายใต้ "ยุทธศาสตร์ ๓ ขั้น ๓ งาน" นั่นเอง

บทสรุป

ยุทธศาสตร์ ๓ ขั้น ๓ งาน จะเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ในการเอาชนะการก่อความไม่สงบ ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะเป็นภาพจิ๊กซอว์ใหญ่ ในการต่อภาพจิ๊กซอว์เล็ก ๆ ของยุทธการการปิดล้อมตรวจค้น ยุทธวิธีลดเหตุร้ายรายวัน และยุทธศาสตร์สันติวิธี โดยมีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน คือ ระยะเวลา ๑๐ ปี และมีทิศทางของกองทัพในการแก้ปัญหาที่ชัดเจนเช่นเดียวกัน ตามขั้นตอนยุทธศาสตร์การเอาชนะการก่อความไม่สงบ คือ ขั้นการรับ ขั้นการยัน และขั้นการรุก ผู้เขียนก็มีความหวังและตั้งความหวังไว้เหมือนกับผู้รักชาติและรักแผ่นดิน ของประเทศนี้ว่า แม้สถานการณ์ภาคใต้จะเดินมาไกลเกินกว่าที่จะย้อนกลับไปหาอดีตที่สุขสงบได้ แล้วก็ตาม อยากจะถามท่านว่ามันยังจะพอเป็นไปได้ไหม? ที่เราจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดอนาคตของเราเอง เอาเถอะไม่เกิน ๑๐ ปี เราจะร่วมกันสร้างอนาคตที่เป็นจริง เมื่อนั้นสันติสุขก็จะได้หวนกลับคืนมาสู่พี่น้องชาวไทยทุกคนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้งหนึ่ง เชื่อด้วยหัวจิตหัวใจไว้อย่างนั้นจริง ๆ

...............................

เอกสารอ้างอิง

กิตติ รัตนฉายา, พล.อ., "ยำใหญ่ ไฟใต้", สำนักพิมพ์ฐานมิเดีย เน็ตเวิร์ค, ๒๕๔๘.

กิตติ รัตนฉายา, พล.อ., "ดับไฟใต้กับรัฐไทย", บริษัทฐานรวมห่อ จำกัด, ๒๕๔๘.

Robert Thompson, "Defeating Communist Insurgency", Hailer Publishing, Florida, U.S.A., ๒๐๐๕.

John A. Nagl, "Learning to eat Soup with a Knife: Counterinsurgency Lessons from Malaya and Vietnam", The University of Chicago Press, ๒๐๐๒.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ